ประเทศซิมบับเวพบฟอสซิลไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ ‘Mbiresaurus raathi’ สภาพสุดสมบูรณ์ อายุ 230 ล้านปี จัดเป็นไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในแอฟริกา อาศัยอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย คาดยาว 2 ม. สูงประมาณ 0.5 ม.
นักบรรพชีวินวิทยาพบฟอสซิลไดโนเสาร์ Mbiresaurus raathi สุดสมบูรณ์ภายในบริเวณ Pebbly Arkose Formation ทางตอนเหนือของซิมบับเวหลังขุดค้นมานานกว่า 5 ปี โดยฟอสซิลดังกล่าวมีอายุราว 230 ล้านปี ถือเป็นหนึ่งในฟอสซิลไดโนเสาร์ที่เก่าแก่ที่สุดในแอฟริกา
Christian Kammerer จาก Museum of Natural Sciences ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา กล่าวว่า “ไดโนเสาร์แรกเริ่มมีขนาดเล็กกว่าที่เราคิดกันไว้” นักวิจัยคาดว่า M. raathi มีความยาวประมาณ 2 เมตร และสูงราว 0.5 เมตร พวกมันถูกจัดเป็นไดโนเสาร์ ซอโรพอโดมอร์ฟ (Sauropodomorph) ซึ่งเป็นญาติกับ ซอโรพอด ไดโนเสาร์กินพืช คอยาว ตัวใหญ่ อย่าง แบรคิโอซอรัส และอะแพโทซอรัส
M. raathi มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนปลาย หรือเมื่อประมาณ 252 ถึง 201 ล้านปีที่แล้ว มักอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำภายในระบบนิเวศที่มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งในบริเวณนี้ นักวิจัยขุดพบทั้งซากฟอสซิลของ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มไซโนดอนต์ (cynodont) กลุ่มจระเข้ และริงโคซอร์ (rhynchosaurs)
ทีมวิจัยคาดว่า สัตว์ยุคไทรแอสซิกอาศัยอยู่แค่ในบางพื้นที่ของมหาทวีปแพนเจียเพราะว่า พวกมันถูกกั้นขวางด้วยสภาพภูมิอากาศ เช่น ภัยแล้ง หรืออากาศร้อนสุดขั้ว ดังนั้น สัตว์เหล่านี้จึงไม่สามารถย้ายถิ่นฐานไปยังส่วนอื่น ๆ ของแพนเจียได้ จนกว่าแนวกั้นขวางดังกล่าวจะอ่อนกำลังลง
ความจริงแล้ว ฟอสซิลไดโนเสาร์ที่เก่าแก่กว่า M. raathi ก็คือ ฟอสซิลของ ไนอาซาซอรัส (Nyasasaurus) ซึ่งมีอายุประมาณ 245 ล้านปี อย่างไรก็ตาม นักวิจัยพบกระดูกเพียงไม่กี่ชิ้น จึงไม่สามารถระบุได้ว่า มันเป็นไดโนเสาร์แท้จริง หรือเป็นเพียงบรรพบุรุษของไดโนเสาร์ที่เรียกว่า ไดโนโซโรมอร์ฟ (dinosauromorph) ทังนี้ การค้นพบ M. raathi นับว่าเป็นตัวต่อสำคัญในการเรียนรู้วิวัฒนาการของไดโนเสาร์ยุคแรกเริ่ม