นักวิทยาศาสตร์ทึ่ง พบหนูยักษ์ที่ตัวใหญ่เกือบครึ่งเมตรและหนัก 1 กิโลกรัม! หากินอยู่ในหมู่เกาะโซโลมอนที่ห่างไกล เป็นครั้งแรกในโลกที่มีการบันทึกภาพหนูยักษ์สายพันธุ์หายากนี้ หวังช่วยอนุรักษ์ไม่ให้สูญพันธุ์
หลังจากล้มเหลวมาหลายปีนับตั้งแต่ปี 2017 ที่นักวิทยาศาสตร์ได้พบกับซากหนูยักษ์บนเกาะ Vangunu ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะโซโลมอน ซากเมื่อปี 2017 นี้เป็นเพียงตัวอย่างเดียวที่ทำให้นักวิจัยรู้ว่ามีสิ่งมีชีวิตนี้อยู่ แม้จะมีความพยายามค้นหามาตลอด 6 ปี แต่ก็ไม่เคยมีใครได้เห็นมันจริง ๆ
จนกระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากคนในชุมชน Zaira ที่อาศัยอยู่ในป่า และมีความรู้อย่างลึกซึ้งกับระบบนิเวศ ชาว Zaira ได้ช่วยแนะนำจุดตั้งกล้องตามที่ต่าง ๆ ที่อาจเจอสัตว์ฟันแทะตัวนี้ซ่อนอยู่ และนักวิทยาศาสตร์ก็ได้พบมันจริง ๆ
ภาพวิดีโอเผยให้เห็นว่าหนูตัวนี้มีขนาดใหญ่โตมาก มันใหญ่กว่าหนูทั่วไปอย่างน้อย 3-4 เท่า การประเมินเบื้องต้นระบุว่ามันน่าจะมีขนาดราว ๆ 1.5 ฟุตหรือ 0.457 เมตร เพื่อความง่าย ช่วงไหลของคนเราจากสุดไหล่ซ้ายไปสุดไหลขวามีขนาดประมาณ 50-55 เซนติเมตร ซึ่งหมายความว่าหนูตัวใหญ่ใกล้เคียงกับช่วงไหล่ของมนุษย์
.
“นักมานุษยวิทยาและผู้เชี่ยวชาญสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมต่างตระหนักถึงสิ่งนี้มานานหลายทศวรรษ แต่ความเป็นเพื่อระบุและบันทึกสัตว์สายพันธุ์นี้ทางวิทยาศาสตร์กลับไร้ผล” ดร. Tyrone Lavery นักวิจัยหลักเขียนในรายงาน
ชาวบ้านท้องถิ่นรู้จักสัตว์ฟันแทะยักษ์ตัวนี้มาอย่างยาวนานแล้ว โดยพวกเขามักเล่าว่าเป็นหนูที่กัดลูกมะพร้าวให้แตกได้ ด้วยความรู้นี้จึงช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้ภาพหนูยักษ์ 4 ตัวรวมทั้งหมด 95 ภาพ พร้อมกับตั้งชื่อพวกมันว่า หนูยักษ์ Vangunu (Uromys vika)
การค้นพบนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อ เนื่องจากปัจจุบันรัฐบาลของหมู่เกาะโซโลมอนได้อนุญาตให้มีการตัดไม้เชิงพาณิชย์บนเกาะ ซึ่งหมายความว่าที่อยู่อาศัยของหนูยักษ์หายากนี้กำลังถูกคุกคาม และจากที่มีการพบเห็นน้อยมาก นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่ามันอาจมีจำนวนประชากรน้อยจนถึงขั้นใกล้สูญพันธุ์
“ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าหนูยักษ์ Vangunu อาศัยอยู่ในป่าของชุมชน Zaira และดินแดนเหล่านี้เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสุดท้ายที่เหลืออยู่ของสายพันธุ์นี้” ดร. Lavery กล่าวเสริม “หาก(การตัดไม้)ดำเนินการต่อไป มันจะต้องนำไปสู่การสูญพันธุ์ของหนูยักษ์ Vangunu อย่างแน่นอน”
“เราหวังว่าภาพ U.vika (ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของหนูยักษ์) เหล่านี้จะทำให้เกิดการปกป้องจากการสูญพันธุ์ที่กำลังคุกคาม และช่วยปรับปรุงสถานะการอนุรักษ์ได้” ดร. Lavery บอก