(ในภาพเป็นขนาดของ T. magnifica เมื่อเทียบกับเหรียญ dime ของสหรัฐฯ ซึ่งมีขนาดเท่า ๆ กับเหรียญ 50 สตางค์ของไทย)
มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า! นักวิทย์ฯ พบ เซลล์แบคทีเรียยักษ์ใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในแคริบเบียน มีความยาวได้ถึง 2 ซม.
LIFE: มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า! นักวิทย์ฯ พบ เซลล์แบคทีเรียยักษ์ใหญ่สายพันธุ์ใหม่ในแคริบเบียน มีความยาวได้ถึง 2 ซม. เผย DNA แบคทีเรียถูกเก็บไว้ในถุงเล็ก ๆ ภายในเซลล์ แตกต่างจากแบคทีเรียอื่น ๆ สะท้อนถึงความซับซ้อนของสิ่งมีชีวิต
เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักวิจัยเผยว่า พวกเขาพบเซลล์แบคทีเรียยักษ์ใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยพวกมันอาศัยอยู่ในบริเวณต้นโกงกาง ซึ่งเติบโตอยู่ในป่าชายเลนฝั่ง Grande-Terre บนเกาะ Guadeloupe ในทะเลแคริบเบียน
แบคทีเรียเหล่านี้มีลักษณะเป็นเส้น และมีความยาวได้มากถึง 2 เซนติเมตรเลยทีเดียว ความพิเศษคือ นักวิจัยพบว่า DNA ของมันถูกห่ออยู่ภายในถุงเล็ก ๆ ที่มีเยื่อหุ้ม แตกต่างจากเซลล์โพรแคริโอต (เซลล์ที่ไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส และไม่มีออร์แกเนลล์แบบมีเยื่อหุ้ม) และเซลล์ของแบคทีเรียชนิดอื่น ๆ ที่มีสารพันธุกรรมล่องลอยอยู่ภายในเซลล์
นอกจากนี้ แบคทีเรียดังกล่าวยังมีถุงน้ำ (vacuole) ซึ่งมีน้ำถึง 73% ของปริมาณ
น้ำในเซลล์ทั้งหมด โดยถุงน้ำขนาดใหญ่ได้ผลัก ออร์แกเนลล์ หรือ โครงสร้างต่าง ๆ ที่ทำหน้าที่เฉพาะภายในเซลล์ ให้อยู่ติดกับขอบ ซึ่งอาจมีส่วนช่วยให้แบคทีเรียนำสารพิษ หรือโมเลกุลที่มีประโยชน์เข้าออกจากเซลล์ได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากพวกมันมีถุงน้ำและผลวิเคราะห์ในระดับพันธุกรรม ที่คล้ายคลึงกับแบคทีเรียขนาดใหญ่ในสกุล Thiomargarita ที่ใช้กำมะถันเป็นแหล่งพลังงาน นักวิจัยจึงคาดว่า แบคทีเรียสายพันธุ์ใหม่นี้ น่าจะมาจากสกุลเดียวกัน และเสนอให้มีการตั้งชื่อมันว่า Thiomargarita magnifica
“T. magnifica ได้ถูกเพิ่มเข้ามาในรายชื่อของแบคทีเรีย ที่มีความซับซ้อนในการวิวัฒนาการขั้นสูง เพราะจนถึงตอนนี้ พวกมันเป็นแบคทีเรียชนิดแรกและชนิดเดียว ที่มีการห่อหุ้มสารพันธุกรรมไว้ภายในเยื่อหุ้ม ในลักษณะเดียวกับเซลล์ยูคารีโอต ซึ่งแปลว่า มันอาจเป็นตัวต่อของความซับซ้อน ในเส้นทางวิวัฒนาการของเซลล์ ที่เรากำลังตามหาอยู่ ผ่านการท้าทายสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับเซลล์แบคทีเรีย” นักวิจัยเผย