Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันเสาร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2564

Songjiang Mosque ศาสนสถานอิสลามเก่าแก่ที่สุดในจีนผสมผสาน ระหว่างศิลปะจีนกับศิลปะอิสลาม


ค้นหา
เอ่ยชื่อ ‘เซี่ยงไฮ้’ เราทั้งหลายจะนึกถึงอะไรได้บ้าง?

เมืองใหญ่ที่สุดในประเทศจีนทั้งในแง่พื้นที่ ประชากร และขนาดเศรษฐกิจ ซีรีส์ฮ่องกงยอดฮิตยุค 80 กับเพลงประกอบชื่อเดียวกันที่ร้องตามได้ทันทีที่อินโทรขึ้น หอคอยไข่มุกตะวันออกและบรรดาตึกระฟ้าอันล้ำสมัยที่ตั้งตระหง่านริมแม่น้ำหวงผู่ฝั่งตะวันออก ดูขัดแย้งกับตึกเก่าสไตล์ยุโรปซึ่งทอดตัวเรียงรายอยู่ฝั่งตรงข้าม อดีตเขตเช่าฝรั่งเศสอันรุ่งเรืองซึ่งเป็นที่มาของฉายาเมืองนี้ว่า ‘ปารีสแห่งแดนบูรพา’ สวนสนุกดิสนีย์แลนด์แห่งที่ 6 ฐานการถ่ายภาพยนตร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฯลฯ 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือภาพจำที่ผมมีต่อเซี่ยงไฮ้ และพานคิดต่อไปว่าเมืองที่เพิ่งยกระดับเป็นมหานครเมื่อร้อยกว่าปีมานี้คงไม่มีประวัติความเป็นมายาวนานนัก จวบจนกระทั่งวันที่ผมได้มาเยือนเมืองปากแม่น้ำหวงผู่แห่งนี้ด้วยตัวเอง ผมจึงได้รู้ว่าในความเป็นจริงแล้ว เซี่ยงไฮ้ยังเต็มไปด้วยสถานที่เก่าแก่โบราณที่เร้นกายอยู่ตามย่านต่างๆ ทั้งในเมืองและนอกเมืองอีกมากมาย 

หนึ่งในนั้นคือ มัสยิดซงเจียง (Songjiang Mosque) ศาสนสถานของศาสนาอิสลามที่สร้างด้วยสถาปัตยกรรมจีนดั้งเดิม หากมองเพียงผิวเผินก็คงดูไม่ออกว่าที่นี่คือมัสยิดเป็นแน่แท้


ฉากหน้าประตูทางเข้ามัสยิด มีการตกแต่งแผ่นกระเบื้องเขียนอักษรจีนว่า

ซง เจียง ชิง เจิน ซื่อ แปลตรงตัวว่า มัสยิดซงเจียง

ชาวจีนมุสลิม
กล่าวถึงศาสนาอิสลามและชาวมุสลิมในประเทศจีน ผมเชื่อว่าหลายๆ ท่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่น่าจะนึกถึง ‘ชาวอุยกูร์’ ชนกลุ่มน้อยเชื้อสายเติร์กซึ่งกำลังเป็นประเด็นพิพาทในทุกวันนี้เป็นอย่างแรก ทว่าจริงๆ แล้ว ชาวมุสลิมในประเทศนี้มีอีกหลายกลุ่มหลายชาติพันธุ์ โดยรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนจำแนกออกเป็น 10 กลุ่มที่จัดได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มแขกขาว สืบเชื้อสายมาจากเอเชียกลาง เรียกว่า ‘พวกเติร์ก’ หรือ ‘พวกซินเจียง’ กับกลุ่มคนผิวเหลืองที่พูดภาษาจีนกลางซึ่งเรียกว่า ‘จีนมุสลิม’

ในที่นี้เราจะพูดถึงแต่ชาวจีนมุสลิมกลุ่มใหญ่สุด ซึ่งเรียกกันว่า ‘ชาวหุย’ (Hui People) เท่านั้น ค่าที่พวกเขาเป็นผู้สร้างสรรค์มัสยิดแห่งนี้ขึ้น

ศาสนาอิสลามแพร่เข้ามาในจีนครั้งแรกในสมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ.618 – 960) โดยราชสำนักถังมีบันทึกเกี่ยวกับศาสนาต่างชาติศาสนานี้ว่า ในปีที่ 2 แห่งรัชกาลจักรพรรดิถังเกาจง (เทียบได้กับ ค.ศ.651) มีคณะทูตจากแดนอาระเบียนำบรรณาการมาถวาย พร้อมกับโน้มน้าวพระทัยให้ถังเกาจงเข้ารับอิสลามด้วย แม้พระองค์จะทรงปฏิเสธ แต่ก็ทรงยินยอมให้ชาวมุสลิมเผยแผ่ศาสนาได้อย่างเสรี นับเป็นจุดกำเนิดของการเผยแผ่ศาสนาอิสลามในแผ่นดินมังกร

การแพร่กระจายของอิสลามในจีนมีความเกี่ยวข้องกับการค้ากับต่างชาติอย่างแนบแน่น เนื่องจากพ่อค้าชาวอาหรับและเปอร์เซียที่รอนแรมมาค้าขายจำนวนไม่น้อยได้ตั้งรกรากถาวรในเมืองจีน บ้างสมรสกับชาวจีนฮั่น เป็นเหตุให้ชาวจีนทั้งชายและหญิงหันมานับถืออิสลามตามคู่สมรสชาวมุสลิมของพวกตน นำไปสู่การผสมผสานกลืนกลายทางชาติพันธุ์ นอกจากนี้บทบาทและฐานะทางสังคมของชาวมุสลิมในสังคมจีนโบราณยังจัดอยู่ในระดับที่ดี ปริมาณอิสลามิกชนชาวจีนจึงเติบโตขึ้นโดยลำดับ จนก่อกำเนิดเป็นชนกลุ่มใหม่ที่เรียกว่า ‘ชาวหุย’ 

ปัจจุบันนิยามคำว่า ‘หุย’ ในสายตาชาวจีนทั่วไปมีความหมายว่า ‘ชาวฮั่น (จีน) ที่นับถือศาสนาอิสลาม’ ประมาณกันว่าทุกวันนี้ชาวหุยในจีนมีประชากรราว 9 – 11 ล้านคน ใกล้เคียงกับชาวอุยกูร์ ถือได้ว่าเป็นมุสลิมกลุ่มใหญ่ที่สุดกลุ่มหนึ่งในจีน พวกเขามีวัฒนธรรมส่วนใหญ่เหมือนกับชาวฮั่น เว้นแต่บางอย่างที่ต่างกันด้วยข้อบังคับทางศาสนา เช่นการไม่บริโภคอาหารที่มีหมูเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น 


เสาธงชาติจีนตั้งเด่นอยู่กลางสวนของมัสยิด ตึกด้านหลังที่เห็นคืออาคารที่สร้างใหม่

มัสยิดทรงจีน
เมื่อพูดถึง ‘มัสยิด’ ท่านผู้อ่านเกินครึ่งคงนึกถึงอาคารที่สร้างด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมอาหรับ ลายดาวคู่พระจันทร์เสี้ยว มีโดมอยู่บนยอด อีกทั้งมีหอคอยสูงชะลูดหนึ่งหอหรือมากกว่านั้นสร้างคู่อาคารหลัก… นั่นคงเป็นจินตภาพของคนส่วนใหญ่ หารู้ไม่ว่าทั้งหมดที่ว่ามาข้างต้นเป็นเพียง ‘ค่านิยม’ ในการสร้างศาสนสถานของชาวมุสลิม หาใช่ ‘ข้อกำหนด’ ในการสร้างไม่

อันที่จริงศาสนาอิสลามไม่มีข้อกำหนดหรือข้อบังคับที่ตายตัวเรื่องรูปแบบสถาปัตยกรรมศาสนสถานแต่อย่างใด แม้แต่มัสยิดยุคแรกอย่างมัสยิดอัลนะบะวีย์แห่งนครมะดีนะฮ์ที่สร้างสมัยท่านศาสดามุฮัมมัดยังมีชีวิตอยู่ ก็สร้างขึ้นง่ายๆ จากวัสดุท้องถิ่นและภูมิปัญญาของชาวบ้าน เช่น ทำเสาอาคารจากต้นอินทผลัม รับหลังคาที่ทำจากกิ่งอินทผลัม ใบอินทผลัม และโคลน ก่อกำแพงด้วยโคลนและอิฐดิบเท่านั้น 


ครั้นเมื่อศาสนาอิสลามแพร่เข้าไปสู่ดินแดนอื่นๆ ที่มีอารยธรรมของตนเองมาก่อน เมื่อชาวพื้นเมืองเข้ารับนับถืออิสลาม ก็จะนำแนวคิด รูปแบบ และวิธีการทางศิลปะ ที่ชนชาติตนเองคุ้นเคยมาประยุกต์ใช้ในการสร้างมัสยิด 

เพราะเหตุนี้ มัสยิดในโลกนี้จึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกันออกไปตามภูมิหลังของแต่ละดินแดน ตัวอย่างเช่นในเปอร์เซียสร้างมัสยิดที่มีซุ้มประตูขนาดใหญ่ หลังคาโดม และหลังคาโค้ง ตามวิหารของศาสนาโซโรอัสเตอร์ที่ชาวเปอร์เซียนับถือมาแต่เดิม มัสยิดบางแห่งในชวาประยุกต์หลังคาแบบโจโกลโดยเพิ่มยอดแหลมเข้าไป เรียกว่าทรง ‘เมอรุ’ และวางผังตามแผนภูมิจักรวาลในศาสนาพุทธและฮินดู หรือในไทยมีการสร้างมัสยิดก่ออิฐถือปูนแบบไทยประเพณีดังเช่นมัสยิดบางหลวง ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อชาวจีนบางส่วนเข้ารีตนับถืออิสลาม มีหรือที่ลูกหลานพันธุ์มังกรซึ่งเป็นเจ้าของแหล่งอารยธรรมสำคัญของโลก จะไม่หยิบยืมลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมของชนชาติตนมาใช้ในการสร้างมัสยิด? 


โถงละหมาดของมัสยิดซงเจียง

มัสยิดหลังแรกในจีนคือมัสยิดใหญ่แห่งซีอาน (The Great Mosque of Xi’an) สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 8 สมัยราชวงศ์ถัง นอกจากอายุอานามที่มากกว่ามัสยิดอื่นๆ แล้ว ยังเป็นมัสยิดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีนด้วย มัสยิดหลังนี้สร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมแบบจีนโบราณเช่นเดียวกัน โดยสถาปัตยกรรมส่วนใหญ่ที่ปรากฏในมัสยิดใหญ่แห่งซีอานทุกวันนี้ได้รับการรังสรรค์ขึ้นในสมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ.1368 – 1644)

ภาษาจีนกลางมีคำเรียกมัสยิดหลายคำด้วยกัน คำที่นิยมที่สุดในปัจจุบันคือ ชิงเจินซื่อ (清真寺) มีความหมายว่า ‘วิหารสัจธรรมพิสุทธิ์’ ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกซีนากอก (วิหารในศาสนายูดาย) ของชาวจีนเชื้อสายยิวด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีคำเรียกอื่นๆ อาทิ หุยหุยถัง-โถงของชาวหุย (回回堂) หุยหุยซื่อ-วัดของชาวหุย (回回寺) หลี่ไป้ซื่อ-วิหารแห่งการสักการะ (礼拜寺) ฯลฯ 

ปัจจุบันประเทศจีนมีมัสยิดมากกว่า 39,000 แห่ง กระจายตัวอยู่แทบทุกภูมิภาค หากไม่นับภาคตะวันตกเฉียงเหนือ (แถบซินเจียง) ซึ่งมีวัฒนธรรมค่อนไปทางเอเชียกลางมากกว่าจีน จะพบว่ามัสยิดเก่าแก่หลายแห่งสร้างขึ้นด้วยสถาปัตยกรรมจีนแท้ นอกจากมัสยิดใหญ่แห่งซีอานแล้ว ยังมีมัสยิดที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่ง เช่น มัสยิดหนิวเจีย (Niujie Mosque) กรุงปักกิ่ง มัสยิดใหญ่แห่งถงซิน (Tongxin Great Mosque) จังหวัดถงซิน เขตปกครองตนเองหนิงเซี่ยหุย หรือมัสยิดใหญ่แห่งจี่หนาน (Jinan Great Southern Mosque) เมืองจี่หนาน มณฑลซานตง เป็นต้น


มัสยิดใหญ่แห่งซีอาน (ภาพจาก muslimvillage.com)

มัสยิดซงเจียง
ปูเรื่องมาเสียยาว คงได้เวลาเข้าประเด็นสำคัญของบทความนี้เสียที…

มัสยิดซงเจียงตั้งอยู่ริมถนนกังเปิ้ง เขตซงเจียง บริเวณรอบนอกของเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ ในอดีตถูกเรียกหลายชื่อ ไม่ว่าจะเป็นมัสยิดเจินเจี้ยว (Zhenjiao Mosque) มัสยิดชิงเซิ่น (Qingshen Mosque) และมัสยิดอวิ๋นเจียนไป๋เฮ่อ (Yunjian Baihe Mosque) ก่อนเปลี่ยนมาเป็นมัสยิดซงเจียงตามชื่อเขตที่ตั้ง ความสลักสำคัญของมัสยิดหลังนี้มิใช่อยู่ที่ความเก่าแก่เหนือมัสยิดหลังอื่นๆ ในเซี่ยงไฮ้แค่นั้น หากยังเป็นมัสยิดแห่งเดียวในเมืองนี้ที่สร้างเป็นทรงจีนโบราณ ขณะที่มัสยิดอื่นสร้างเป็นทรงอาหรับตามแบบฉบับมัสยิดทั่วไป

ภูมิหลังของมัสยิดซงเจียงสืบย้อนไปได้ถึงรัชสมัยจักรพรรดิหยวนฮุ่ยจง (ค.ศ.1333 – 1370) จักรพรรดิพระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์หยวน ตามบันทึกท้องถิ่นระบุว่าสมัยนั้นชาวหุยจำนวนมากอพยพมาตั้งรกรากใหม่ในเขตซงเจียง และสร้างมัสยิดขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางชุมชนและปฏิบัติศาสนกิจทางศาสนา 

การก่อสร้างมัสยิดซงเจียงกินเวลานานถึง 27 ปี โดยเริ่มสร้างใน ค.ศ.1341 แล้วเสร็จใน ค.ศ.1368 คาบเกี่ยวห้วงเวลา 2 ราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง จากนั้นมามีการบูรณะซ่อมแซมอีกหลายต่อหลายครั้ง ก่อนได้รับการประกาศให้เป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุทางวัฒนธรรมโดยรัฐบาลท้องถิ่นของเซี่ยงไฮ้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1980


เนื้อที่ 4,900 ตารางเมตรของมัสยิดแห่งนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบไปด้วยพื้นที่สำหรับประกอบพิธีกรรม พื้นที่สุสาน และพื้นที่สวนหย่อม โดยประตูทางเข้าหลักอยู่ทางทิศเหนือ เมื่อผ่านซุ้มประตูเข้าไปแล้วจะพบลานกว้างกลางมัสยิด อันเป็นจุดศูนย์กลางของพื้นที่ทั้ง 3 ส่วนดังที่กล่าวมา


ลานกว้างนี้ถูกโอบล้อมไว้ด้วยกำแพงโบราณ มีจุดสังเกตอยู่บนยอดซึ่งก่อกระเบื้องเป็นรูปลำตัวมังกรเลื้อยคลานเป็นลูกคลื่น กำแพงลักษณะนี้มีชื่อเรียกว่า ‘กำแพงมังกร’ (Dragon Wall) ชวนให้นึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมแห่งหนึ่งในเซี่ยงไฮ้อย่างสวนอวี้ (Yu Garden) สวนสวยที่สร้างขึ้นตั้งแต่ยุคราชวงศ์หมิง ซึ่งใช้กำแพงแบบเดียวกันนี้เป็นเครื่องกั้นแบ่งสวนออกเป็นหลายๆ ส่วน


กำแพงมังกรที่สวนอวี้ ตกแต่งเป็นรูปหัวมังกรด้วย (ภาพจาก pinterest.com)

จุดเด่นประการหนึ่งของมัสยิดซงเจียงอยู่ที่ซุ้มประตูทรงจีน สำหรับใช้ผ่านเข้าไปยังลานประกอบพิธีกรรม ซุ้มที่เห็นในปัจจุบันสร้างเมื่อปี ค.ศ.1535 ในรัชกาลจักรพรรดิว่านลี่แห่งราชวงศ์หมิง แม้รูปลักษณ์ภายนอกจะเป็นแค่ซุ้มประตูและตกแต่งตามแบบศิลปะจีนโบราณทุกกระเบียดนิ้ว แต่ใครเลยจะรู้ว่าภายในซุ้มประตูนี้ได้รับการใช้สอยในฐานะมินาเรต (Minaret) หรือหอประกาศอะซาน สำหรับเรียกศาสนิกชนให้ละหมาด อันเป็นองค์ประกอบสำคัญที่มัสยิดทุกแห่งต้องมี รวมถึงภายในยังสร้างเป็นทรงโดมแบบอาหรับ เรียกได้ว่าเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะ 2 สกุลได้อย่างกลมกลืน


เป็นที่น่าสังเกตว่า ซุ้มประตูและมินาเรตนี้มีปลายหลังคาแอ่นโค้งราวหางนกนางแอ่น รูปแบบสถาปัตยกรรมนี้มีชื่อเรียกว่า เหยี่ยนเว่ย (燕尾) นิยมใช้กับศาสนสถานและบ้านเรือนของขุนนางที่สอบรับราชการระดับท้องที่ผ่าน ประดับรูปสัตว์ในจินตนาการ 3 ชนิดซึ่งเป็นเครื่องแสดงฐานานุศักดิ์ของอาคาร 

ขยับมาที่ปลายสันหลังคาทั้ง 2 ด้าน พบว่ามีการประดับประดารูปสัตว์ในจินตนาการที่มีหัวเป็นมังกร มีตัวเป็นปลา ภาษาจีนแต้จิ๋วเรียกว่า ‘เหง่าฮื้อ’ ตามตำนานกล่าวว่าสัตว์ชนิดนี้ชอบกินไฟเป็นอาหาร ชาวจีนจึงนิยมแกะสลักตัวเหง่าฮื้อประดับหลังคาศาสนสถาน เพื่อเป็นเคล็ดป้องกันอัคคีภัย จึงแลดูแปลกตาเมื่อศาสนสถานของอิสลามนำสัตว์ในเทพนิยายชนิดนี้มาประดับหลังคาด้วยเช่นกัน 

นอกจากนี้ บนหน้าบันยังประดับด้วยแผ่นกระเบื้องสลักลายอักษรอาหรับคำว่า ‘อัลลอฮ์’ หรือพระนามของพระผู้เป็นเจ้าในศาสนาอิสลามอีกด้วย


หากพิจารณาให้ละเอียดจะพบว่า บริเวณส่วนประกอบพิธีกรรมนี้สร้างโดยยึดหลักฮวงจุ้ย เพราะนอกจากโถงละหมาดหลักแล้ว ยังมีอาคารอีก 2 หลังสำหรับเทศนาธรรมสร้างหันหน้าเข้าหากันเอง เมื่อรวมกับซุ้มประตูจะมีลักษณะเหมือนเรือนหมู่ 4 หลัง ล้อมรอบลานกว้างตรงกลาง รูปแบบการจัดวางอาคารนี้เป็นที่นิยมในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจีน มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘ซื่อเหอเยวี่ยน’ (四合院) 

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์


ถึงแม้ว่ามัสยิดซงเจียงจะมีรูปร่างหน้าตาเป็นแบบจีน แต่อย่างไรเสีย ขึ้นชื่อว่ามัสยิด ไม่ว่าที่ไหนๆ ในโลกก็ไม่อาจตัดขาดศิลปะอาหรับจากดินแดนอันเป็นถิ่นกำเนิดศาสนาอิสลามได้ หากสังเกตดีๆ จะพบว่างานศิลปะอาหรับแซมแทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของสิ่งปลูกสร้างในมัสยิดหลังนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลวดลายอักษรวิจิตร (Calligraphy) ซึ่งเป็นทัศนศิลป์ที่ชาวอาหรับชำนาญ กระทำกันอย่างแพร่หลาย และส่งผ่านไปสู่ชาวมุสลิมชนชาติอื่นๆ ที่มาเข้ารับอิสลามในภายหลัง

งานอักษรวิจิตรในมัสยิดหลังนี้มีทั้งที่เป็นงานไม้แกะสลัก งานหินแกะสลัก รวมไปถึงจิตรกรรม โดยปรากฏในหลายตำแหน่ง ไล่เรียงมาตั้งแต่ซุ้มประตู โถงละหมาด มิห์รอบ (ตำแหน่งบอกทิศกิบละฮ์ซึ่งมุสลิมจะต้องหันหน้าไปทุกครั้งที่ละหมาด) หรือแม้แต่บนมิมบัร 
(แท่นเทศน์ของอิหม่าม) 
มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์
มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์


เสร็จจากการเยี่ยมชมพื้นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาแล้ว ผมขอพาทุกท่านมาชมกันต่อที่กุโบร์ หรือสุสานของชาวมุสลิม กุโบร์ของมัสยิดซงเจียงนี้เป็นที่เล่าลือกันว่าร่มรื่นและเงียบสงบที่สุดในบรรดากุโบร์ทุกแห่งของเมืองเซี่ยงไฮ้ ป้ายหินจารึกชื่อผู้ตายทุกแผ่นทำขึ้นอย่างเรียบง่าย สลักข้อความต่างๆ ทั้งอักษรจีนและอักษรอาหรับ ดูเผินๆ คล้ายกับสุสานคนไทยเชื้อสายจีนที่พบได้ทั่วไปในบ้านเรา แต่ความเหมือนเหล่านั้นถูกทำให้ต่างโดยอักษรวิจิตรอาหรับ และการฝังบนพื้นดินเรียบๆ ไร้การประดับประดาทั้งปวงตามขนบธรรมเนียมอิสลามนั่นเอง

มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์
มัสยิดซงเจียง มัสยิดทรงจีนโบราณหนึ่งเดียวแห่งมหานครเซี่ยงไฮ้ที่ใช้เวลาสร้างถึง 2 ราชวงศ์


ปัจจุบันมัสยิดซงเจียงยังใช้เป็นที่ประกอบศาสนกิจอยู่ แต่ก็เปิดกว้างให้คนต่างชาติต่างศาสนาเข้าชมได้ โดยคิดค่าเข้าชม 3 หยวน แน่นอนว่าต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย สำรวมกิริยาวาจา ส่วนสุภาพสตรีต้องไม่มีประจำเดือนระหว่างเยี่ยมชม ภายในมีป้ายข้อมูลกำกับอยู่ในหลายจุด 
😋
แต่พึงสังวรว่ามีแต่ภาษาจีนเท่านั้น เดินทางไปได้โดยรถไฟฟ้าใต้ดินสาย 9 ลงสถานีสวนสาธารณะจุ้ยไป๋ฉือ (Zubaichi Park) ออกทางออกชื่อเดียวกับสถานี เดินตรงไปเรื่อยๆ จนถึงแยกที่ถนนกังเปิ้ง (Gangbeng Alley) ตัดผ่าน เลี้ยวซ้ายไปไม่ไกลก็จะพบมัสยิดทางซ้ายมือครับ
ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของมัสยิดซงเจียง มัสยิดเก่าแก่คู่เมืองเซี่ยงไฮ้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานานถึง 7 ศตวรรษ เลอค่าด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ศิลปกรรมผสมผสานจีนและอาหรับ ตลอดจนความร่มรื่นเขียวขจีของต้นไม้ใบหญ้า ชนิดไม่มีมัสยิดอื่นใดในเมืองเจ้าพ่อจะเทียบเทียม

รายการบล็อกของฉัน

 hellomanman  happy-topay  invite-buying
 men-women-apparel diarylovemanman news-the-world
 homemanman alovemanman
 menmen-love
 ghost-in-manman  U.F.O.manman fishmanman
foodmanman  flowermanman herbs-in-manman
devilmanman herbs-in-manman manman clip