โลกจับตา โคลนนิ่งคืนชีพ "แมมมอธ" สัตว์ดึกดำบรรพ์ ลูกครึ่งช้างเอเชีย
ชาวโลกกำลังมองความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ ในการคืนชีพให้กับช้างแมมมอธ สัตว์ดึกดำบรรพ์ เลี้ยงลูกด้วยนมที่สูญพันธุ์ไปในยุคน้ำแข็ง เมื่อกว่า 2 หมื่นปีก่อน ทำให้สิ่งที่จะเกิดขึ้นนี้ อาจไม่ได้อยู่ในจินตนาการเฉพาะนิยาย หรือในหนังภาพยนตร์ อีกต่อไป
เพราะทีมนักวิทยาศาสตร์ด้านพันธุศาสตร์จากฮาร์วาร์ด กำลังเริ่มโครงการจากการร่วมมือกับบริษัท โคลอสซอล ที่ได้รับเงินจากการระดมทุนกว่า 500 ล้านบาท ในการเพาะพันธุ์ลูกผสมช้างเอเชีย กับช้างแมมมอธ ด้วยการสร้างตัวอ่อนในห้องทดลอง ที่มีดีเอ็นเอของช้างแมมมอธที่เก็บรักษามาอย่างดี และจะนำไปฝากเลี้ยงในแม่ช้างอุ้มบุญ หรืออาจเพาะเลี้ยงในครรภ์เทียม
โครงการนี้คาดหวังว่าจะได้ลูกช้างแมมมอธพันธุ์ผสม ครั้งแรกของโลก ภายในระยะเวลา 6 ปี และจะนำเข้าไปอยู่อาศัยในเขตทุนดรา (Tundra) หรือทุ่งหิมะแถบขั้วโลกเหนือ เพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงของโลก
ช้างแมมมอธ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีลำตัวและงาขนาดใหญ่กว่าช้างยุคปัจจุบัน กำเนิดในยุคไพลโอซีนตอนต้น ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเวลา 20 กว่าปี นักวิทยาศาสตร์หลายประเทศ พยายามจะคืนชีพช้างแมมมอธ จากการโคลนนิ่งมาโดยตลอด แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
คืนชีพช้างแมมมอธ ยากมาก แต่ก็เป็นไปได้
"ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์" ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์สื่อและผลิตภัณฑ์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญ ด้านอณูพันธุศาสตร์ และนักเขียน ซึ่งหยิบงานวิจัยและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ มาสอดแทรกในเนื้อหาให้น่าสนใจ บอกว่า ภารกิจปลุกคืนชีพช้างแมมมอธ เป็นสิ่งที่ยากมาก แต่ไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้ เพราะในเชิงเทคนิคมีความลำบากในการเอาเซลล์ช้างแมมมอธ ให้กลับมามีชีวิต จะต้องเอาสารพันธุกรรมไปผสมกับไข่ของช้างปัจจุบัน เป็นความยากที่สุดในการทำให้สารพันธุกรรมมีความสมบูรณ์
“เวลาเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ไปเจอกับความเย็นจัดๆ จะกลายเป็นผลึก ดีเอ็นเอก็จะขาด เพราะฉะนั้นโอกาสจะฟื้นสิ่งมีชีวิตก็เป็นเรื่องยาก ยกเว้นการฟื้นสิ่งมีชีวิตที่ไม่ซับซ้อน ก็อาจทำได้ เช่น แบคทีเรีย เคยโดนกดทับมาเป็นแสนปี สามารถนำกลับมาได้ เพราะเป็นสิ่งมีชีวิตไม่ซับซ้อน เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างช้างแมมมอธ ซึ่งพูดกันมาหลาย 10 ปี ในการจะฟื้นคืนชีพ”
ซากฟอสซิลช้างแมมมอธที่พบ อยู่ในยุคเดียวกับที่อียิปต์สร้างพีระมิด หากเทียบกับศาสนาพุทธ มีมานาน 2 พันกว่าปี และศาสนาพุทธกำเนิดมาก่อนศาสนาคริสต์ 500 กว่าปี ถือว่าฟอสซิลที่เจอเก่าแก่กว่ามาก คาดว่าช้างแมมมอธ เคยอยู่ในเขตอาร์กติก และช่วงนั้นโลกเปลี่ยนแปลง จากเคยมีน้ำแข็งปกคลุมเป็นส่วนใหญ่ จนเมื่อโลกอุ่นขึ้น ก็ขยับขยายหนีไป และจากการไล่ล่าของมนุษย์ ทำให้ช้างแมมมอธ หนีขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ จนล่าสุดมาพบฟอสซิลของช้างแมมมอธ เมื่อ 4 พันกว่าปีมาแล้ว
ในการพบซาก หรือชิ้นเนื้อ จะนำไปแช่แข็งเพื่อรักษาสภาพเอาไว้ แต่ไม่ใช่จะไม่เปลี่ยนแปลงเลย ยกตัวอย่างขนมปังผสมเหล้ารัม ต้องนำไปแช่แข็ง เพื่อให้อยู่ได้นานและต้องอยู่ในสภาพที่ปิดมิดชิด หรือแม้จะสามารถเก็บได้ แต่คุณภาพจะลดลง เหมือนเซลล์ของสิ่งมีชีวิตที่เก็บแช่แข็งไว้ โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งมีเซลล์จำนวนมากหมื่นล้านเซลล์
หากมีกระบวนการทำให้เซลล์กลับมาได้ ในรูปแบบของสเต็มเซลล์ จะสามารถเพิ่มจำนวนเซลล์ในห้องทดลอง และใส่ดีเอ็นเอเข้าไป ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยมีใครทำได้สำเร็จ เพราะการหาเซลล์ที่สมบูรณ์นั้นยากมาก อีกทั้งโดยปกติแล้วช้างตั้งท้องนานมาก หรือคนตั้งท้อง ไม่ใช่ว่าจะได้ลุกแน่นอน อาจมีการแท้งได้
โคลนนิ่ง เอาเซลล์สมบูรณ์ ผสมกับไข่ช้างปัจจุบัน
การคืนชีพช้างแมมมอธ จะเรียกว่าการโคลนนิ่งก็ใช่ เป็นการเอานิวเคลียส เอาเซลล์สิ่งมีชีวิต เอาไข่ของช้างเอเชีย และเอานิวเคลียสทิ้งไป จากนั้นนำนิวเคลียสของเซลล์อื่นมาใส่ในไข่ รอให้มีการเจริญเติบโต เหมือนการผสมแบบปกติ เพื่อเพิ่มจำนวนเซลล์ และหากจำไม่ผิดน่าเป็นการเอานิวเคลียสมาจากส่วนหู โดยช้างแมมมอธ เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ เกิดหลังยุคไดโนเสาร์ และซากฟอสซิลที่เจอล่าสุด มีความสมบูรณ์มาก ยังมีขนติดอยู่ แม้ซากจะแห้งฝังอยู่ในโคลน แต่ได้ความเย็นในพื้นที่มาช่วยเก็บรักษา
ในเรื่องหลักการแนวคิดในการคืนชีพแมมมอธ ตั้งแต่อดีตมาถึงยุคปัจจุบัน เหมือนกันไม่แตกต่าง โดยเอาเซลล์ซากช้างแมมมอธ มาผสมกับไข่ของช้างปัจจุบัน เพียงแต่ว่าเซลล์ต้องสมบูรณ์มากที่สุด ในการค่อยๆ ดึงเซลล์ออกมา หากประสบความสำเร็จจะนำเข้าไปอยู่ในขั้วโลกเหนือ ซึ่งช้างแมมมอธ เคยอาศัยอยู่ในอดีต จะช่วยปรับระบบนิเวศน์ ลดผลกระทบสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง
ขณะที่โลกของการโคลนนิ่งในปัจจุบัน มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง เป็นการทำให้เกิดสิ่งมีชีวิต มีหน้าตาเหมือนพ่อแม่ ซึ่งที่ผ่านมามีการโคลนนิ่งแกะและลิง มีการทดลองใช้กับสิ่งมีชีวิตได้ทั้งหมด เป็นการโคลนนิ่งให้เหมือนกันทุกประการ เหมือนตัวต้นแบบ ทั้งลักษณะนิสัย รูปร่างหน้าตา โดยเทคนิคการโคลนนิ่งที่ทำง่ายที่สุด คือการเอาเซลล์ เอาไข่ เอานิวเคลียสของสัตว์ชนิดเดียวกัน แล้วเอามาใส่แทนนิวเคลียสของไข่
สเต็มเซลล์ โคลนนิ่งสิ่งมีชีวิตหลากหลาย ไม่ใช้ไข่
ที่ผ่านมามีนักวิทยาศาสตร์ของญี่ปุ่น เอาเซลล์ที่ได้มา และใส่ดีเอ็นเอ จนกลายเป็นสเต็มเซลล์ เพื่อเอาสิ่งมีชีวิตนำไปทดลองเป็นจำนวนมาก หากการโคลนนิ่งมนุษย์มีปัญหาด้านจริยธรรม ขัดหลักศาสนา มองว่าการฆ่าเซลล์ไข่เป็นความผิดหรือไม่ มีการถกเถียงกันมากในเรื่องตัวอ่อน ที่ถูกทำลายยังไม่มีสภาวะเป็นคน เหมือนการถกเถียงประเด็นตัวอ่อน ในเรื่องการทำแท้ง
“เมื่อเป็นสเต็มเซลล์ อะไรก็ได้ไม่มีปัญหา ขึ้นอยู่กับว่าจะให้ไปอยู่ที่ใด ไปอยู่ที่สมองก็เป็นเซลล์สมอง ไปอยู่ที่ตับ ก็เป็นเซลล์ตับ เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็สามารถโคลนนิ่งได้ ไม่ต้องใช้ไข่ หากในกรณีการโคลนนิ่งมนุษย์ ถือเป็นความก้าวหน้า และสเต็มเซลล์ สามารถรักษาโรคที่รักษายากๆ ได้ หรือโรคที่รักษาไม่เคยได้ เช่น อัมพาต โดยนำสเต็มเซลล์ไปฉีด เพื่อให้กลับมาอีกครั้ง ถือเป็นผลข้างเคียง จากการเปลี่ยนเซลล์ มาเป็นสเต็มเซลล์”
หรือหากจะโคลนนิ่งแมมมอธ ต้องหาเซลล์ที่สมบูรณ์ และหวังว่าจะเป็นไปได้ ซึ่งจะคนละสเกลคนละเรื่องกับไดโนเสาร์ เพราะพบเจอซากที่มีแต่กระดูกสันหลัง โดยเนื้อเยื่อย่อยสลายไปทั้งหมด หากมีการเจอซาก และพบขนไดโนเสาร์ด้วย จะดีใจกันมาก อย่างที่พบในเมียนมา และจึงรู้ว่าไดโนเสาร์มีขน ไม่ได้มีสีที่ตัวแบบทึมๆ เท่านั้น แต่ยังมีขนที่มีสีสัน ดึงดูดเพศตรงข้าม
หากวันหนึ่งวันใดได้พบซากไดโนเสาร์ที่มีเนื้อ และมีขน นอกจากกระดูก จะดีใจกันอย่างมาก และอาจมีข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับไดโนเสาร์ อาจมีรูปลักษณ์แตกต่างจากภาพวาดที่เห็นในปัจจุบันก็ได้
หรือแม้แต่ซากบรรพบุรุษมนุษย์ หากขุดพบส่วนอื่น นอกเหนือจากเศษกระดูกชิ้นเล็กๆ บางส่วน ก็จะยิ่งดีต่อวงการวิทยาศาสตร์ เช่นเดียวกับการพบซากช้างแมมมอธ หากมีความสมบูรณ์ อาจทำให้การคืนชีพประสบความสำเร็จก็ได้.