หนอนยักษ์ทะเล หรือ “ไพโรโซม”
(Pyrosomes –ชื่วิทยาศาสตร์:Pyrostremma spinosum)
ค้นหา
เป็นสัตว์น้ำที่พบได้ยากมาก ถูกจัดอยู่ในกลุ่มของสัตว์มีกระดูกสันหลัง ประเภท Tunicate หรือสัตว์ที่ไม่มีศรีษะ ไม่มีขากรรไกร ซึ่งแท้จริงแล้วร่างกายที่เราเห็นกันว่ามีขนาดยาวและใหญ่ดูคล้ายกับ “ถุงยางอนามัย” ของพวกมันนั้น เกิดจากการเชื่อมต่อกันของ “ซูอิด” (Zooid – สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหลาย ๆ ตัวต่อรวมกัน) นั่นเอง
โดยการเชื่อมต่อดังกล่าวคือ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ (แตกหน่อ) และทำให้ซูอิดที่เกิดมาใหม่เรียงต่อกันเป็นโครงสร้างร่างกายของไพโรโซม ซึ่งดูผิวเผินจะเหมือนเป็นแผ่นเจลาติน ที่มีปลายด้านหนึ่งเปิดและปลายอีกด้านปิดอยู่ โดยไพโรโซมจะมีความยาวประมาณ 30-60 เซนติเมตร แต่ความยาวมากสุดที่เคยถูกพบนั้นยาวถึง 35 เมตร ส่วนปลายที่เปิดอยู่สามารถกว้างได้มากถึง 2 เมตร ซึ่งเคยมีเพนกวินหลุดเข้าไปและตายอยู่ในโพรงของไพโรโซมด้วย
แต่จริง ๆ แล้วพวกมันไม่ใช่สัตว์น่ากลัว เพียงแต่มีขนาดและหน้าตาประหลาดก็เท่านั้นเอง ซึ่งไพโรโซมยังเป็นสัตว์ที่ทำหลาย ๆ อย่างได้พร้อมกัน กล่าวคือ เมื่อซูอิดแต่ละตัวทำการสูบน้ำเข้าไปยังโพรงด้านใน เพื่อกรองแพลงก์ตอน หรือสาหร่ายขนาดเล็กที่เป็นอาหารหลักของพวกมัน จากนั้นจะขับน้ำและของเสียออกอีกด้านหนึ่ง โดยแรงขับที่ว่ายังช่วยขับเคลื่อนร่างของพวกมันให้ไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ ด้วย
การเชื่อมต่อกันของซูอิด
ทั้งนี้ จุดเด่นที่สำคัญของมันคือสามารถ “เรืองแสง” ได้ นั่นเพราะว่าซูอิดแต่ละตัวจะมีอวัยวะเปล่งแสงคู่หนึ่งอยู่บริเวณผิวด้านนอกของพวกมัน โดยอวัยวะดังกล่าวจะมีแบคทีเรียที่เรืองแสงได้อยู่ภายใน ดังนั้น เมื่อซูอิดตัวหนึ่งเปล่งแสง ซูอิดตัวอื่น ๆ ก็จะเปล่งแสงตอบสนองออกมาเช่นกัน ซึ่งแสงที่เกิดขึ้นจะเป็นสีฟ้า สีชมพู หรือสีเขียว แถมยังสว่างมากพอที่จะมองเห็นได้จากระยะไกลกว่า 30 เมตร อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้มันจะเป็นสัตว์ที่พบได้ยาก แต่ทว่า นับตั้งแต่ปี 2012 ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จากองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) พบว่า มีการแพร่กระจายของไพโรโซมจำนวนมากบริเวณชายฝั่งของแคลิฟอร์เนียไปจนถึงอะแลสกา ซึ่งนั่นได้สร้างปัญหาให้กับชาวประมง เนื่องจากปลายที่เปิดของไพโรโซมได้เข้าไปห่อหุ้มอุปกรณ์จับปลานั่นเอง
การแพร่กระจายของไพโรโซมจำนวนมากในมหาสมุทรแปซิกฟิก ส่งผลให้พวกมันถูกซัดมาเกยชายหาด
นอกจากนี้ ในปี 2017 ยังเคยเกิดปรากฎการณ์ “สะพรั่ง” (Bloom – การเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว) ของไพโรโซมจำนวนมาก ในบริเวณเดียวกันกับที่กล่าวไปข้างต้น
ซึ่งนักวิทยาศาสตร์คาดว่า อาจเป็นผลมาจากอุณหภูมิของน้ำที่อุ่นขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อีกทั้ง พวกเขายังกังวลว่า หากไพโรโซมจำนวนมากตายลง การสลายตัวของพวกมันจะทำลายออกซิเจนไปด้วย ซึ่งทำให้เกิด “Dead Zone” ในที่สุด (พื้นที่ของมหาสมุทรที่ขาดออกซิเจน.