นักวิทย์ค้นพบ “นิสัยขี้เล่นของโลมา” นำพาความเสี่ยงไวรัสระบาดได้
นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า นิสัยขี้เล่นของโลมานั้น ช่วยกระชับความผูกพันระหว่างโลมาด้วยกัน แต่นั่นก็เป็นจุดอ่อนที่ทำให้โลมาเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อไวรัสให้แก่กันได้ ตามรายงานของเอพี
เจเน็ต แมนน์ นักวิจัยด้านโลมา แห่งมหาวิทยาลัย Georgetown University สังเกตพฤติกรรมของโลมาเพศผู้โตเต็มวัย 3 ตัว ที่ดำผุดดำว่ายขึ้นมาหายใจบริเวณผิวน้ำไปอย่างพร้อมเพรียง บริเวณ Chesapeake Bay ในรัฐเวอร์จิเนีย
ซึ่งเป็นรูปแบบการหายใจที่เรียกว่า Synchronized breathing ที่โลมาจะใช้ร่วมกับเพื่อนสนิท หรือระหว่างแม่ลูกโลมาที่ว่ายน้ำไปด้วยกัน เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโลมา สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมที่ชาญฉลาดและชื่นชอบการเข้าสังคมเป็นชีวิตจิตใจ และการหายใจรูปแบบนี้ของโลมา คล้ายกับการจับมือหรือการโอบกอดของมนุษย์นั่นเอง
แม้ปฏิสัมพันธ์อันใกล้ชิดจะมีความสำคัญต่อความผูกพันทางสังคมของโลมา แต่การใช้พื้นที่และอากาศร่วมกันของโลมานี้ ก็เป็นโอกาสในการแพร่เชื้อโรคต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
แมนน์ และนักวิทยาศาสตร์รายอื่นๆ พยายามทำความเข้าใจถึงปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง cetacean morbillivirus
ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับโรคหัดในมนุษย์ และพบครั้งแรกในแหล่งน้ำของรัฐเวอร์จิเนียและแมริแลนด์ สามารถแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในหมู่โลมาในชายฝั่งแอตแลนติก ช่วงปี 2013-2015 ซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์โลมาเกยตื้นตายมากกว่า 1,600 ตัว ตั้งแต่ชายฝั่งรัฐนิวยอร์กไปจนถึงฟลอริดาในช่วงเวลานั้น
ขณะที่ข้อมูลจากหน่วยงานด้านสภาพมหาสมุทรและบรรยากาศโลกของสหรัฐฯ (National Oceanic and Atmospheric Administration-NOAA) ประเมินว่ามีโลมาต้องตายด้วยไวรัสนี้ราว 20,000 ตัว และทำให้ประชากรโลมาในภูมิภาคนี้ลดลงราว 50%
แมนน์ อธิบายว่า ไวรัสนี้ เหมือนกับโควิด เพราะเป็นไวรัสที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เมื่อโลมาหายใจร่วมกันบนผิวน้ำ พวกมันจะแบ่งบันฝอยละอองผ่านการหายใจ ซึ่งเหมือนกับการพูดและการไอรดใส่กันนั่นเอง
นักวิจัยด้านโลมา แห่งมหาวิทยาลัย Georgetown University รู้ว่ากุญแจสู่ความเข้าใจเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสอย่างรวดเร็วนั้น คือ การติดตามเครือข่ายสังคมของโลมา เหมือนกับการที่หน่วยงานสาธารณสุขติดตามการระบาดของโควิด-19 ด้วยรูปแบบ contact tracing
เจคอบ นิเกรย์ นักวิจัยที่ศึกษาไวรัสในสัตว์ จาก Wake Forest School of Medicine บอกว่า การทำความเข้าใจเรื่องการระบาดของโรคในสัตว์สังคม ทั้งมนุษย์ โลมา หรือลิงชิมแปนซี นักวิทยาศาสตร์ไม่เพียงแต่ศึกษาลักษณะทางชีวภาพของไวรัส
แต่ต้องคำนึงถึงวิถีทางกที่กลุ่มประชากรที่เปราะบางจะติดเชื้อด้วย และว่าการติดตามเครือข่ายสังคมเพื่อดูรูปแบบการติดเชื้อเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะเพื่อนฝูงที่คุณต้องการในตอนนั้นอาจเป็นผู้ที่ทำให้คุณป่วยได้เหมือนกัน
ธรรมชาติของโลมาเป็นสัตว์ที่ขี้เล่น และมักจะว่ายน้ำใกล้ชิดกับเพื่อนฝูงโลมาด้วยกัน บางครั้งพวกมันก็เอาครีบไปแตะกันระหว่างว่ายน้ำด้วย ซึ่งแมนน์ ที่ศึกษาชีวิตโลมาในสหรัฐฯ มานานกว่า 35 ปี อธิบายว่า มันเหมือนการจับมือกันของมนุษย์ ขณะที่แมนน์ ไม่ค่อยชอบใช้คำว่า “ฝูง” กับโลมา เพราะเป็นการเรียกกลุ่มก้อนที่คงที่ของสัตว์ เหมือนกับฝูงหมาป่า แต่สำหรับโลมาแล้ว มันเป็นสัตว์ที่มีเพื่อนสนิทและคอยติดตามดูแลกันเป็นประจำ
แมนน์ และเพื่อนนักวิจัยติดตามชีวิตโลมาใน Chesapeake Bay กว่า 2,000 ตัว ถึงขั้นที่ว่ามีการตั้งชื่อเสียงเรียงนามให้โลมาแต่ละตัว ด้วยชื่อของบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์อเมริกันเลยทีเดียว เช่น โลมาอับราฮัม ลินคอล์น และเพื่อนสนิทที่ตั้งชื่อว่าแอนดรูว์ แจ็คสัน
ซึ่งว่ายเวียนมาที่แม่น้ำโปโตแมค ระหว่างที่สำนักข่าวเอพีเกาะติดรายงานเรื่องนี้อยู่ ซึ่งทีมวิจัย บอกว่า โลมาทั้งสองนี้หายใจร่วมกันแบบ Synchronized breathing ซึ่งระยะของโลมาที่หายใจแบบนี้ในระยะที่น้อยกว่า 16 ฟุต หรือประมาณ 5 เมตรระหว่างกัน นั่นคือระยะที่ใกล้พอที่จะแพร่เชื้อโรคให้กันได้
อย่างไรก็ตาม แมนน์ เพิ่มเติมว่า การหายใจแบบ Synchronized breathing มักพบในโลมาเพศผู้ที่เป็นเพื่อนสนิทกันมากกว่า แต่กรณีของเพศเมียนั้นจะใช้เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูก ซึ่งการค้นพบนี้ช่วยอธิบายว่าทำไมโลมาเพศผู้ถึงตายมากกว่าในช่วงการระบาดของไวรัส cetacean morbillivirus
คริสตี้ เวสต์ นักวิจัยจาก University of Hawaii บอกว่า การระบาดของไวรัสในหมู่โลมา จะเกิดขึ้นทุก 25 ปี ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่ทำลายประชากรโลมาและวาฬทั่วโลก แต่กิจกรรมทางทะเลของมนุษย์ อุณหภูมิน้ำทะเลที่อุ่นขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดธรรมชาติ จะยิ่งทำให้สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น