พบฟอสซิลจระเข้โบราณกินไดโนเสาร์เป็นอาหาร อร่อยปากจรเข้โบราณไป
ทีมนักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิลของจระเข้โบราณชนิดใหม่ที่กินไดโนเสาร์เป็นอาหารในออสเตรเลีย ถือเป็นหลักฐานชิ้นแรกที่บ่งชี้ว่า จระเข้ยุคดึกดำบรรพ์ในพื้นที่แถบนี้กินไดโนเสาร์เป็นอาหาร
พิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียน เอจ ออฟ ไดโนซอร์ส (Australian Age of Dinosaurs) ผู้ค้นพบครั้งนี้ระบุว่า ฟอสซิลจระเข้โบราณที่ชื่อ Confractosuchus sauroktonos มีความยาวประมาณ 2.5 เมตร และคาดว่าจะเคยมีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียส โดยมีอายุเก่าแก่กว่า 95 ล้านปี
การตรวจสอบด้านในท้องของจระเข้น้ำจืดชนิดนี้ นักวิทยาศาสตร์พบซากของไดโนเสาร์ออร์นิโธพอดวัยรุ่น น้ำหนักประมาณ 1.7 กก. ซึ่งพวกเขาระบุว่านี่เป็นสิ่งที่ "ค้นพบได้ยากมาก"
หัวกะโหลกของจระเข้โบราณ Confractosuchus sauroktonos ในสภาพที่เกือบสมบูรณ์
ฟอสซิลนี้ถูกค้นพบครั้งแรกที่ฟาร์มเลี้ยงแกะในรัฐควีนส์แลนด์ ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของออสเตรเลียเมื่อปี 2010 และนักบรรพชีวินวิทยาต้องใช้เวลาในการศึกษาถึง 6 ปี โดยใช้การเอกซเรย์ และการทำซีที สแกน ในการตรวจหาตำแหน่งของกระดูก เนื่องจากฟอสซิลมีความเปราะบางมาก และฝังตัวอยู่ในหินทรายแป้ง (siltstone)
นอกจากนี้ เทคโนโลยี 3 มิติยังช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ยุคดึกดำบรรพ์ชนิดนี้เพิ่มขึ้น เช่น พบว่าหัวกะโหลกของจระเข้อยู่ในสภาพเกือบสมบูรณ์ และช่วยให้ทราบขนาดตัวของมัน
ดร.แมตต์ ไวต์ ผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ออสเตรเลียน เอจ ออฟ ไดโนซอร์ส ระบุว่า การค้นพบฟอสซิลจระเข้โบราณและอาหารมื้อสุดท้ายของมันช่วยให้ "เบาะแสเรื่องความสัมพันธ์และพฤติกรรมของสัตว์" ที่เคยอาศัยอยู่ในออสเตรเลียเมื่อหลายล้านปีก่อน