นักวิทยาศาสตร์ขุดพบโครงกระดูกช้างแมมมอธจำนวนมากใต้สถานที่ที่กำลังมีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ในเม็กซิโก โดยคาดว่าน่าจะเป็นหลุมศพช้างแมมมอธที่มีขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่เคยมีการค้นพบมา
จนถึงขณะนี้ นักวิทยาศาตร์สามารถขุดพบโครงกระดูกช้างแมมมอธได้แล้วกว่า 100 ตัว รวมทั้งโครงกระดูกสัตว์อื่น ๆ ในยุคน้ำแข็งอีกจำนวนมาก กระจายทั่วพื้นที่ที่กำลังจะกลายเป็นสนามบินพาณิชย์แห่งใหม่ของเม็กซิโก ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากกรุงเม็กซิโกซิตี้ราว 50 กม.
รูเบน แมนซานิลลา หัวหน้านักโบราณคดี อธิบายกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เมื่อราว 24,000 ปีก่อน ฝูงแมมมอธได้เดินทางมาถึงพื้นที่แห่งนี้ซึ่งเต็มไปด้วยผืนหญ้าเขียวชอุ่มและทะเลสาบ ทำให้พวกมันปักหลักอยู่ที่นี่ที่ซึ่งเปรียบเสมือนสวรรค์ของสรรพสัตว์มากมายหลายเผ่าพันธุ์ รวมทั้งสายพันธุ์ที่เป็นต้นกำเนิดของม้า อูฐ และควายป่าด้วย
หัวหน้านักโบราณคดีผู้นี้กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นซ้ำไปซ้ำมา คือสัตว์จำนวนหนึ่งออกหากินไกลจากแหล่งที่อยู่ และติดอยู่ในสถานการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งทำให้ไม่สามารถกลับออกมาได้ ซึ่งเชื่อว่าฝูงแมมมอธที่พบในหลุมศพยักษ์นี้น่าจะตายจากกรณีสันนิษฐานดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานว่าเมื่อราว 10,000 ปีก่อน มนุษย์เริ่มเรียนรู้วิธีล่าช้างแมมมอธด้วยหอกและธนูที่ทำขึ้นเอง หรือใช้วิธีขุดหลุมตื้น ๆ เพื่อดักสัตว์โบราณชนิดนี้
อย่างไรก็ตาม โครงกระดูกจำนวนมากที่พบในแถบนี้ยังคงสร้างความตกตะลึงอย่างมากให้กับคณะนักโบราณคดีชุดนี้
รูเบน แมนซานิลลา เชื่อว่าเมื่อการขุดหาโครงกระดูกเสร็จสิ้น แหล่งโบราณคดีแห่งนี้จะเป็นหนึ่งในแหล่งค้นพบโครงกระดูกแมมมอธขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พอ ๆ กับที่พบในอเมริกาและที่แคว้นไซบีเรียของรัสเซีย
โดยขณะนี้ทางสนามบินกำลังวางแผนจัดนิทรรศการช้างแมมมอธในลักษณะเดียวกับพิพิธภัณฑ์ ที่อาคารผู้โดยสารหลักของสนามบินแห่งนี้แล้ว