นอกจากตำนานของฟาโรห์ผู้เกรียงไกร พีระมิดขนาดมหึมาและแม่น้ำไนล์ที่สะท้อนแสงอาทิตย์ระยิบระยับแล้ว อารยธรรมไอยคุปต์ยังมีความโดดเด่นทางด้าน “น้ำหอม” ที่ไม่แพ้เมืองน้ำหอมอย่างประเทศฝรั่งเศสเลยล่ะครับ
น้ำหอมในอียิปต์โบราณเป็นหนึ่งในเครื่องบรรณาการอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวไอยคุปต์มักจะนำมาถวายแด่เทพเจ้า พวกเขานับถือเทพเจ้า “เนเฟอร์ตุม” (Nefertum) ในฐานะเทพเจ้าแห่งน้ำหอม ซึ่งถ้าว่ากันตามประวัติศาสตร์แล้ว น้ำหอมของชาวไอยคุปต์มีความเก่าแก่หลายพันปี ย้อนกลับไปได้ไกลถึงยุคสมัยของพระนางคลีโอพัตราที่ 7 (Cleopatra VII) ผู้เลอโฉม หรือแม้แต่กระทั่งฟาโรห์หญิงฮัตเชปซุต (Hatshepsut) ยอดกษัตรีแห่งอาณาจักรไอยคุปต์ก็ปรากฏหลักฐานว่านางเคยใช้ “น้ำหอม” มาก่อนเช่นกันครับ
ในอดีต นักอียิปต์วิทยาค้นพบบ้านของพ่อค้าน้ำหอมที่มีหลักฐานของบรรดาภาชนะดินเผาที่เคยใช้บรรจุน้ำหอมปริมาณมหาศาลจากเมืองธมูอิส (Thmuis) ทางตอนเหนือของประเทศอียิปต์ ที่นี่คือแหล่งผลิตน้ำหอมชั้นดีสองชนิดของชาวไอยคุปต์ เป็นน้ำหอมคุณภาพอันดับต้นๆ ของโลกโบราณที่รู้จักกันในชื่อ “เมนเดเซียน” (Mendesian) และ “เมโทเปียน” (Metopian) ซึ่งนักวิชาการเปรียบว่าน้ำหอมของเมืองธมูอิสนี้มีความยอดเยี่ยมประหนึ่ง “น้ำหอมชาแนลหมายเลข 5” (Chanel N°5) แห่งยุคอียิปต์โบราณยังไงยังงั้น!!
มัมมี่ที่ถูกอุ้มในแนวนอน ทว่าโคนน้ำหอมบนศีรษะกลับไม่ร่วงหล่น.
แต่น้ำหอมหรือเครื่องหอมของชาวไอยคุปต์ก็ไม่ได้มีเพียงแค่น้ำหอมในลักษณะของเหลวบรรจุอยู่ในขวดหลากหลายลวดลายเท่านั้นหรอกนะครับ ทว่ายังมีน้ำหอมอีกชนิดหนึ่งที่สร้างความฉงนสงสัยให้กับนักอียิปต์วิทยามาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่ามันจะใช่ “น้ำหอม” จริงแท้แค่ไหน น้ำหอมพิศวงที่ว่านี้ก็คือน้ำหอมที่เรียกกันว่า “น้ำหอมทรงโคน” (Perfume Cone)
ซึ่งปรากฏให้เห็นบ่อยครั้งในลักษณะคล้ายถ้วยทรงโค้งที่วางอยู่บนศีรษะของชาวไอยคุปต์ ที่น่าสนใจก็คือนักอียิปต์วิทยาบางท่านยังไม่ปักใจเชื่อน่ะสิครับว่านี่จะเป็น “น้ำหอม” จริงๆ เอ้า!! ถ้าอย่างนั้นแล้วโคนลึกลับบนศีรษะของชาวไอยคุปต์จะเป็นอะไรกันแน่? คอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูนขอเชิญแฟนานุแฟนมาไขปริศนาข้อนี้ไปพร้อมๆกันเลยครับ
หนึ่งในปริศนาที่นักอียิปต์วิทยาทั่วทุกมุมโลกยังคงถกเถียงกันมาจนถึงปัจจุบันก็คือ ภาพของวัตถุลึกลับทรงโคนที่ปรากฏอยู่บนศีรษะของชาวอียิปต์โบราณตามผนังสุสานของเหล่าชนชั้นสูงในสมัยราชอาณาจักรใหม่ (New Kingdom) นี่ล่ะครับ เพราะดูผิวเผินแล้วก็คล้ายกับว่าชาวอียิปต์โบราณเหล่านั้นหัวโนบวมสูงขึ้นมาคล้ายภาพการ์ตูน แต่แน่นอนครับว่าภาพลายเส้นที่ดูคล้ายโคนนั้นไม่ได้เกิดจากการเอาศีรษะไปกระแทกอะไรมาจนหัวปูด แต่มันเป็น “วัตถุ” บางอย่างที่วางอยู่บนศีรษะของพวกเขาต่างหากล่ะ คำถามก็คือ แล้ว “วัตถุ” ที่ว่านั้นมันเป็นอะไรกันแน่?
สิ่งที่นักอียิปต์วิทยาค้นพบก็คือภาพวัตถุทรงโคนลึกลับนี้มักจะปรากฏบนวิกผมที่สวมอยู่บนศีรษะของชาวอียิปต์โบราณที่กำลังอยู่ในงานสังสรรค์และงานเลี้ยงรื่นเริงที่มีการรับประทานอาหาร บ้างก็เต้นรำ เล่นดนตรี เต็มไปด้วยความสนุกสนาน ส่วนเจ้าโคนที่อยู่บนศีรษะก็มักจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน มันดูเหมือนกับหมวกทรงสูงที่ปลายด้านบนของโคนตกแต่งด้วยสีเหลืองอ่อน ส่วนด้านล่างตกแต่งด้วยสีขาว
ศพสตรีจากสุสานที่อมาร์นามีวัตถุคล้ายโคนน้ำหอมบนศีรษะ.
ชาวไอยคุปต์ทั้งชนชั้นสูงและเหล่าคนรับใช้ที่คอยให้บริการก็มักจะมีภาพของโคนชนิดนี้ประดับไว้บนศีรษะ และที่น่าสนใจก็คือภาพของโคนปริศนาที่ว่านี้ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดเป็นพิเศษในสมัยราชอาณาจักรใหม่ โดยเฉพาะราชวงศ์ที่ 18 หรือในช่วงประมาณ 1,550 ถึงราว 1,300 ปีก่อนคริสตกาล และสิ่งที่นักอียิปต์วิทยายุคแรกพยายามให้คำตอบกับเจ้าวัตถุลึกลับทรงโคนบนศีรษะของชาวอียิปต์โบราณก็คือมันเป็น “น้ำหอม” ชนิดหนึ่งที่ทำจากขี้ผึ้งและไขมันสัตว์ ปั้นขึ้นรูปให้มีลักษณะคล้ายหมวกทรงสูง เพื่อวางเอาไว้บนศีรษะให้น้ำหอมทรงโคนนี้ค่อยๆละลายและปลดปล่อยกลิ่นหอมอ่อนๆออกมาระหว่างที่พวกเขากำลังสนุกสนานกับงานรื่นเริง ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย ไม่แตกต่างจากการทำอโรมาเธอราพี (Aromatherapy) หรือการบำบัดด้วยน้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากพืชในปัจจุบันเลยล่ะครับ
ดังนั้น สิ่งที่นักอียิปต์วิทยาคิดเห็นตรงกันก็คือเจ้าวัตถุทรงโคนลึกลับเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับ “น้ำหอม” และ “กลิ่นหอม” แน่ๆ แต่คำถามต่อไปที่พวกเขาต้องออกตามหาคำตอบให้ได้ก็คือ ชาวไอยคุปต์เคยปั้นน้ำหอมทรงโคนเพื่อวางไว้บนศีรษะของพวกเขาจริงหรือไม่?
โคนน้ำหอมที่นักวิชาการในปัจจุบันจำลองขึ้นมา...สิ่งที่จะช่วย
ให้นักอียิปต์วิทยาค้นพบคำตอบ
ที่พวกเขาตามหาก็คือหลักฐานทางโบราณคดีจากศิลปะบนผนังสุสานที่ปรากฏภาพของโคนน้ำหอมและบรรดามัมมี่จากยุคราชอาณาจักรใหม่ที่ร่วมสมัยกับยุคของการใช้โคนน้ำหอมนั่นเองครับ หนึ่งในหลักฐานที่นักอียิปต์วิทยาค้นพบและพอจะนำมาใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนได้ว่าชาวอียิปต์โบราณอาจจะเคยมีการชโลมน้ำหอมบนศีรษะก็คือหลักฐานของยางไม้หอม (Resin) ที่ยังคงหลงเหลือบนศีรษะของมัมมี่ที่ทำการตรวจสอบเมื่อปี ค.ศ.2014 แต่ถึงอย่างนั้นนักอียิปต์วิทยาก็ยังไม่สามารถฟันธงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกครับว่ายางไม้หอมนั้นจะละลายออกมาจากโคนน้ำหอมที่วางไว้บนศีรษะของมัมมี่ร่างนี้ด้วยหรือไม่ เพราะหนึ่งในอุปสรรคใหญ่ของกลุ่มนักอียิปต์วิทยาที่เชื่อถึงการมีตัวตนอยู่จริงของโคนน้ำหอมก็คือก่อนหน้านี้พวกเขาไม่เคยค้นพบน้ำหอมทรงโคนของจริงปรากฏให้เห็นที่ไหนมาก่อนเลยน่ะสิครับ
หนึ่งในคำถามสำคัญที่กลุ่มผู้สนับสนุนถึงการมีอยู่จริงของโคนน้ำหอมบนศีรษะยังไม่สามารถหาคำตอบที่เหมาะสมได้ก็คือ“ชาวไอยคุปต์สวมใส่เจ้าน้ำหอมทรงโคนนี้บนศีรษะอย่างไรไม่ให้มันร่วงหล่นลงมาระหว่างที่พวกเขากำลังสนุกสนานกับงานปาร์ตี้?” เพราะถ้าลองดูภาพชาวไอยคุปต์จากศิลปะบนผนังสุสานที่มีโคนลึกลับแปะอยู่บนศีรษะแล้ว ก็จะพบว่าส่วนหนึ่งเป็นนักดนตรี บ้างก็เป็นคนรับใช้ที่ต้องเดินไปมาเพื่อเสิร์ฟน้ำและอาหาร ซึ่งก็คงจะปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าในงานเลี้ยงรื่นเริงเช่นนี้ย่อมต้องมีการเต้นรำที่ออกลวดลายท่วงท่าลีลากันเต็มเหนี่ยว
ลองจินตนาการตามได้เลยว่าถ้าโคนน้ำหอมถูกออกแบบมาให้ค่อยๆละลายเพื่อเพิ่มความหอมตลอดช่วงเวลาที่ชาวไอยคุปต์อยู่ในงานรื่นเริง นั่นย่อมหมายความว่ามันต้องถูก “สวม” ติดกับศีรษะด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งที่ไม่เคยถูกแสดงหรืออธิบายเอาไว้ในศิลปะของพวกเขาเลยครับ เราเห็นเพียงแค่โคนเหล่านี้ถูกวางอยู่อย่างง่ายๆ เรียกได้ว่าแค่ก้มศีรษะลงก็คงไหลร่วงหล่นไปตามแรงโน้มถ่วงของโลกแล้ว ปัญหาก็คือนักอียิปต์วิทยายังไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนน่ะสิครับว่าชาวไอยคุปต์สวมหรือยึดโคนน้ำหอมบนศีรษะเอาไว้ให้มั่นคงได้อย่างไร นอกจากนั้นที่น่าสนใจก็คือภาพวาดของ “มัมมี่” ที่ถูกอุ้มใน “ท่านอนหงาย” ก็ยังคงมีโคนน้ำหอมเช่นนี้วางอยู่บนศีรษะได้โดยไม่ร่วงหล่นลงมาประหนึ่งว่ามันสามารถต้านแรงโน้มถ่วงได้ หรือไม่ก็เอากาวติดไว้ยังไงยังงั้น!!
ภาพชาวอียิปต์โบราณมักจะมีวัตถุลึกลับบนศีรษะ.
ยิ่งไปกว่านั้น โคนน้ำหอมนี้ก็ไม่ได้ถูกใช้งานโดย “คนเป็น” เท่านั้นหรอกนะครับ เพราะ “คนตาย” หรือวิญญาณของผู้วายชนม์ รวมถึง “เทพเจ้า” ของชาวไอยคุปต์บางพระองค์ที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับความตายและการฟื้นคืนชีพก็สวมใส่วัตถุที่ดูคล้ายโคนน้ำหอมบนศีรษะด้วยเช่นกัน หลักฐานต่างๆเหล่านี้ทำให้นักอียิปต์วิทยาเริ่มหันมามองแนวคิดที่ว่าวัตถุทรงโคนนี้ไม่น่าจะใช่ชนิดของน้ำหอมที่ชาวไอยคุปต์วางเอาไว้บนศีรษะและปล่อยให้ละลายเพื่อสร้างกลิ่นหอมรัญจวนใจเสมอไป แต่น่าจะเป็นวัตถุที่ถูกวาดเอาไว้ในศิลปะของพวกเขาเพื่อสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์บางประการเสียมากกว่า ว่าแต่ “ความหมายในเชิงสัญลักษณ์” ที่ว่านั้นคืออะไรกันล่ะ?
ด้วยว่าโคนน้ำหอมสามารถปรากฏอยู่บนศีรษะของดวงวิญญาณรวมถึงเทพเจ้าองค์ต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องราวของความตายและการฟื้นคืนชีพได้ด้วย อีกทั้งชาวไอยคุปต์ที่สวมใส่โคนน้ำหอมบนศีรษะยังมักจะปรากฏบนภาพวาดที่อยู่ในบริบทของ “สุสาน” เสียเป็นส่วนใหญ่ แถมในบางครั้งภาพของโคนน้ำหอมยังปรากฏคู่กับ “ดอกบัว” ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำหรับการผลิตน้ำหอมของชาวอียิปต์โบราณเสียด้วย ดังนั้น จึงมีการเสนอกันว่าถ้าโคนเหล่านี้ปรากฏอยู่บนศีรษะของผู้ที่ยังมีชีวิต มันก็อาจจะสื่อความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นได้รับการชโลมไปด้วยน้ำหอมจนหอมฟุ้ง แต่ถ้าโคนน้ำหอมปรากฏบนศีรษะของมัมมี่หรือวิญญาณของผู้วายชนม์ก็จะหมายความถึงสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่และโคนน้ำหอมนี้ก็จะช่วยให้ดวงวิญญาณของพวกเขาสามารถเดินทางผ่านโลกหลังความตายไปได้อย่างราบรื่นนั่นเอง
แต่สิ่งที่เล่าไปข้างต้นคือแนวคิดที่ถูกเสนอกันมาตั้งแต่ก่อนที่นักอียิปต์-วิทยาจะประกาศการค้นพบครั้งใหม่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา การค้นพบที่ว่านี้ได้สั่นคลอนทฤษฎีเกี่ยวกับโคนน้ำหอมไปอีกครั้ง ด้วยว่าสิ่งที่นักอียิปต์วิทยาค้นพบก็คือ “ศพ” จากเมืองโบราณอมาร์นา (Amarna) อายุราว 3,300 ปี ที่ถูกฝังโดยมีวัตถุคล้าย “โคน” วางอยู่บนศีรษะด้วยน่ะสิครับ!!
โคนลึกลับบนศีรษะของศพในเมืองอมาร์นานี้มีทั้งหมดสองชิ้นด้วยกันครับ ชิ้นแรกปรากฏบนศีรษะของสตรีที่เสียชีวิตในช่วงอายุราว 20 ถึง 29 ปี โคนที่พบบนศีรษะของเธอมีความสูงราว 8 เซนติเมตร กว้างราว 10 เซนติเมตร โคนที่สองค้นพบบนศีรษะของอีกศพหนึ่งที่ยังไม่สามารถระบุเพศได้ชัดเจน แต่น่าจะเสียชีวิตในช่วงอายุราว 15 ถึง 20 ปีเท่านั้นเองครับ สิ่งที่น่าสนใจก็คือเมื่อนำเอาวัตถุคล้ายโคนที่ปรากฏบนศีรษะของศพทั้งสองไปตรวจสอบก็พบว่ามันทำมาจาก “ขี้ผึ้ง” (Beeswax) ซึ่งก็เป็นวัสดุชนิดเดียวกับที่นักอียิปต์วิทยาเคยเสนอว่าชาวไอยคุปต์ใช้ในการผลิตโคนน้ำหอมด้วยเช่นกัน แต่ที่น่าแปลกก็คือภาพศิลปะของชาวอียิปต์โบราณ
บ่งบอกว่าผู้ที่สวมโคนน้ำหอมมักจะเป็นชนชั้นสูงเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ศพของสตรีและวัยรุ่นไม่ทราบเพศสองร่างจากเมืองอมาร์นานี้กลับไม่ใช่กลุ่มคนรวย เพราะโครงกระดูกของพวกเขาฟ้องเอาไว้อย่างชัดเจนเลยครับว่าทั้งคู่เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงานที่ต้องตรากตรำทำงานหนักแถมบางวันยังต้องอดมื้อกินมื้ออีกด้วย
มีโคนน้ำหอมตั้งอยู่บนศีรษะของชาวไอยคุปต์ที่กำลังรื่นเริงในงานเลี้ยง.
มีโคนน้ำหอมตั้งอยู่บนศีรษะของชาวไอยคุปต์ที่กำลังรื่นเริงในงานเลี้ยง.
นั่นจึงนำมาสู่คำถามที่ว่าวัตถุบนศีรษะของทั้งคู่คือ “โคนน้ำหอม” จริงๆน่ะหรือ? น่าเสียดายครับที่องค์ประกอบของโคนทั้งสองมีเพียงแค่ “ขี้ผึ้ง” โดยที่ไม่มีส่วนประกอบของ “น้ำหอม” อยู่ในนั้นเลย
นักอียิปต์-วิทยาจึงยังคงกังขากันอยู่ว่านี่จะเป็นหลักฐานของโคนน้ำหอมจริงหรือไม่ ในขณะที่ทางฝ่ายนักอียิปต์วิทยากลุ่มที่ “เชื่อ” ก็พยายามเสนอว่านี่ล่ะคือ “โคนน้ำหอม” ที่กำลังตามหา เพียงแค่ว่ามันถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใส่เอาไว้กับศพในสุสานก็เลยเป็นเพียงแค่ “ตัวแทน” ของโคนน้ำหอมที่เคยใช้งานจริงในยามมีชีวิต มันจึงไม่มีองค์ประกอบของน้ำหอมติดมาด้วยนั่นเองครับ
การค้นพบโคนขี้ผึ้งทั้งสองชิ้นนี้ได้ช่วยบอกเป็นนัยว่าภาพโคนลึกลับที่ปรากฏในศิลปะอาจจะไม่ได้สื่อความหมายเพียงแค่ในเชิงสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียวอีกต่อไปแล้วล่ะครับ แต่มันแสดงให้เห็นว่าโคนน้ำหอมอาจจะเป็นวัตถุของจริงที่ชาวไอยคุปต์เมื่อหลายพันปีก่อนเคยหยิบขึ้นมาวางเอาไว้บนศีรษะเพื่อชโลมร่างกายของพวกเขาให้หอมฟุ้ง แต่ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ศพทั้งสองไม่ได้บอกเอาไว้ก็คือพวกเขายึดโคนพิศวงเอาไว้บนศีรษะได้อย่างไรกัน
นั่นหมายความว่าปริศนาของโคนน้ำหอมยังไม่สิ้นสุดลงง่ายๆ