Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560

เจ้าแม่จามรีแห่งเวียงลี้ กษัตร์ย์ที่ไม่มีใครรู้จัก


เจ้าแม่จามรีแห่งเวียงลี้ กษัตร์ย์ที่ไม่มีใครรู้จัก
ที่เมืองลำพูนนอกเหนือจากพระนางจามเทวีปฐมกษัตรีย์ศรีหริภุญไชยผู้โด่งดังซึ่งใครๆ ก็รู้จักแล้ว ที่เวียงลี้ยังมีเรื่องราวของกษัตริย์หญิงอีกองค์หนึ่งนาม พระนางจามรี หรือ "เจ้าแม่จามรี"

ใครที่นั่งรถผ่านถนนพหลโยธิน (106) สายในเส้นเถิน-ลี้-บ้านโฮ่ง ย่อมสังเกตเห็นอนุสาวรีย์ขนาดเล็กหน้าวัดพระธาตุดวงเดียว มองเผินๆ ชวนให้เข้าใจว่าเป็นพระนางจามเทวี แต่ครั้นเข้าไปอ่านป้ายใกล้ๆ กลับเขียนว่า "พระนางจามรี"

คนต่างถิ่นร้อยทั้งร้อยไม่งงก็ให้มันรู้ไป บ้างก็สอบถามดิฉันว่าป้ายสะกดคำผิดหรือเปล่า หากไม่ พระนางจามรีคือใคร เป็นอีกนามหนึ่งหรือเป็นองค์เดียวกันกับ "พระนางจามเทวี" ใช่หรือไม่
เมื่อได้รับคำเฉลยว่าเป็นคนละองค์กัน ก็มีปริศนาตามมาอีกว่า ถ้าเช่นนั้นทั้งสององค์มีความเกี่ยวข้องกันหรือไม่ เหตุไรจึงมีชื่อคล้ายกัน
สำทับด้วยความแคลงใจว่า ทำไมรัฐโบราณตามชายขอบจึงนิยมยกผู้หญิงขึ้นนั่งเมือง โม้มากไปหรือเปล่า?

ปริศนานาม
ไฉนชื่อ "จาม" เหมือนกัน?
ก่อนจะตอบว่า "จามรี" คือใคร เป็นมาอย่างไร ขอไขปริศนาประเด็นชื่อ "จาม" ระหว่าง "จามเทวี" กับ "จามรี" ก่อน
นักวิชาการหลายท่านลงความเห็นว่า "จาม" อาจไม่ใช่ชื่อเฉพาะของกษัตริย์ แต่เป็นตำแหน่งของ "นางพญาแม่เมือง" ก็เป็นได้ ภาษามอญโบราณพบคำว่า "จยาม" (Cฺyam) แปลว่า "มกรหรือจระเข้" หมายถึง "ผู้มากับสายน้ำ" เหตุเพราะการเดินทางจากละโว้มายังหริภุญไชยของจามเทวีนั้นต้องเสด็จขึ้นมาทางชลมารค หรืออีกนัยหนึ่ง "มกร" อาจเป็นสัญลักษณ์ของ "อำนาจ" แห่งกษัตริย์

ส่วนภาษาล้านนายุคต่อมา "จาม" (อ่าน "จ๋าม" แบบพื้นเมือง) แปลว่า "การรบพุ่ง" อาจหมายถึง "นักรบที่เป็นกษัตริย์" ได้เช่นเดียวกัน ทั้งจามเทวีและจามรีกว่าจะได้นั่งเมือง ต่างก็ต้องแสดงวีรกรรมฉกาจกล้าในการรบไม่แพ้ชาย
อันที่จริง เจ้าแม่จามรีของชาวลี้ มีอีกชื่อหนึ่งว่า "เจ้าเจนเมือง" ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าชื่อไหนมาก่อน เคยชื่อเจนเมืองอันเป็นภาษาพื้นบ้าน กระทั่งปกครองเวียงลี้ จึงใช้ชื่อ "จาม" ตามอย่างกษัตริย์หริภุญไชยโบราณ หรือในทางกลับกัน "จามรี" อาจเป็นชื่อจริง แต่ครั้นเมื่อได้มานั่งเมือง ก็กลายเป็น "เจ้าเจนเมือง"

คำว่า "จามรี" ภาษาสันสกฤตนั้นหมายถึงสัตว์ประเภทเนื้อทรายที่พราหมณ์นิยมนำหางมาทำแส้ เป็นหนึ่งในเครื่องราชกกุธภัณฑ์
การถือแส้จามรีที่แสดงสัญลักษณ์ความเป็นกษัตริย์มีในงานศิลปกรรมมาแล้วตั้งแต่ฟาโรห์ของอียิปต์โบราณ ตลอดจนเมโสโปเตเมีย และอินเดีย

เมื่อมองในแง่ที่ว่า "จาม" อาจสะท้อนถึงชาติพันธุ์ที่มีบรรพบุรุษมาจากอาณาจักร "จามปา" รัฐโบราณร่วมสมัยกับหริภุญไชย โดยมีศูนย์อำนาจอยู่ที่เวียดนามแถบเมืองดานัง ญาตรัง ก็มีความเป็นไปได้สูงในกรณีของจามเทวี
ส่วนจามรีนั้น ก่อนอยู่ลี้เคยเป็นเจ้าหญิงจากหลวงพระบาง ในอดีตยุคที่อาณาจักรศรีโคตรบองเรืองอำนาจดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำโขงก็เคยเป็นเขตอิทธิพลภายใต้วัฒนธรรมจามปามาก่อนเช่นกัน
ประเด็นชื่อ "จาม" ที่พ้องกันนี้ยังไม่มีข้อสรุป ต้องค่อยๆ สืบค้นกันอย่างลุ่มลึก มิใช่เอะอะอะไรก็เหมารวมเอาว่า คนเขียนตำนานในท้องถิ่นเลอะเทอะ นึกจะลอกเลียนกันก็ทำเอาดื้อๆ
เจ้าแม่จามรี จากหลวงพระบางสู่เวียงลี้
ความเป็นมาของเจ้าแม่จามรี ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่ามุขปาฐะที่รับรู้กันเฉพาะชาวลี้จากรุ่นสู่รุ่นหลายชั่วอายุคน ทว่า ยังไม่เป็นที่ยอมรับของนักประวัติศาสตร์ในวงกว้าง

ปราชญ์ชาวลี้ยืนยันการมีตัวตนอยู่จริงของเจ้าแม่จามรีจากเอกสาร "ปั๊บสา" ที่คัดลอกต่อๆ กันมาด้วยตัวอักษรธรรมล้านนา ทุกวันนี้ยังหลงเหลืออยู่เพียงไม่กี่ฉบับ
น่าเสียดายที่ไม่ทราบ พ.ศ. ปีที่บันทึก ผิดกับเรื่องราวของจามเทวีซึ่งรจนาโดยภิกษุล้านนาราว พ.ศ.1980-2050 แม้จะเขียนย้อนหลังจากเหตุการณ์จริงที่ผ่านไปแล้วถึง 800 ปีก็ตาม แต่ก็มีนัยที่น่าเชื่อถือมาก

การเดินทางไกลของจามรีเริ่มราว พ.ศ.1800 เนื้อหาสรุปได้ว่า นางเป็นราชนิกุลเชื้อสาย "โยนก" หรือเผ่าพันธุ์ "ไทยวน" จากเมืองหลวงพระบาง ที่ต้องระหกระเหินหนีกองทัพจีนฮ่อ (มองโกล?) อพยพพาไพร่ฟ้าประชาชนไปตายเอาดาบหน้า ภายหลังจากที่พระราชบิดา-มารดาถูกผู้รุกรานปลงพระชนม์อย่างเหี้ยมโหด

เจ้าหญิงจามรีแรมรอนหลบลี้อริอย่างไม่คิดชีวิต มีช้าง "พลายมงคล" ทำหน้าที่คอยเสี่ยงทายเส้นทางในทุกสถานที่ ว่าควรจะไปซ้ายหรือขวา จะขึ้นเขาหรือลงห้วยสุดแต่ช้างจะนำพาไป
ไม่ต่างจากตำนานสูตรสำเร็จหลายฉบับที่นิยมการอธิษฐานจิตวางใจช้างให้มุ่งหน้าไปตามยถากรรม ทั้งตำนานพระแก้วมรกต และตำนานพระธาตุดอยสุเทพ

เค้ามูลเรื่องกลุ่มคนไท-ลาวจากหลวงพระบางมาตั้งรกรากอยู่ที่ภาคเหนือนี้ เมื่อตรวจสอบศักราชกับพงศาวดารลาว พบว่าในพุทธศตวรรษที่ 19 เคยมีการอพยพครั้งใหญ่ของชาวหลวงพระบาง (สมัยนั้นเรียก "ชวา") จริง แต่ระบุว่าหนีโรคระบาด
ราชบุตรราชธิดาของกษัตริย์ขุนลอ-ขุนบรมแตกสานซ่านเซ็นทิ้งเมืองลงมาผ่านทางน่าน สุโขทัยอยู่กลุ่มหนึ่ง และเป็นไปได้ว่าอาจเดินทางเรื่อยมาถึงตาก เถิน ลี้ อันเป็นเมืองลี้ลับอีกต่อหนึ่ง จะเป็นกลุ่มเดียวกันกับเจ้าหญิงจามรีหรือไม่ยังมีข้อน่าสงสัย

ด้วยเหตุที่เส้นทางเสด็จของจามรีนั้นพิลึกชอบกล จากหลวงพระบางแค่ข้ามโขงมาก็ถึงเชียงแสน แต่กลับย้อนขึ้นเหนือผ่านเชียงตุงไปถึงเชียงรุ่ง (เฉียดฉิวใกล้เขตพรมแดนจีนเข้าไปอีก เพื่ออะไร?) แล้วถึงจะลงมาเชียงแสน ทางเสด็จช่วงแรกนี้สร้างความหงุดหงิดให้แก่ผู้อ่านมากพอสมควร

หรืออาจเป็นเพราะ ตอนที่เจ้าหญิงออกจากหลวงพระบางใหม่ๆ มีความตั้งใจจะไปขอความช่วยเหลือจากญาติชาวโยนกที่อาศัยอยู่ในสิบสองปันนาอันเป็นเมืองมาตุภูมิของพระราชบิดาก่อน แต่แล้วก็ยังถูกกองทัพจีนฮ่อรุกรานทำให้จำต้องถอยหนีกลับลงมาตั้หลักแถบลุ่มแม่น้ำโขงเมืองเชียงแสนอีกครั้ง

จากนั้นมุ่งหน้าลงสู่แม่น้ำกกจนถึงเมืองฝาง เชียงดาว ลัดเลาะแม่ระมิงค์มายังดอยหล่อ แล้วกรีธาพลข้ามสายธาราไปยังอีกฟากหนึ่ง อันเป็นเขตอาณาจักรหริภุญไชยทางตอนใต้ ปัจจุบันคืออำเภอเวียงหนองล่อง ต่อเนื่องถึงแม่ทา ทุ่งหัวช้าง กระทั่งเข้าสู่ลี้

แต่ละจุดที่ผ่านได้ทิ้งร่องรอยให้เรียกขานชื่อบ้านนามเมือง เช่นจุดที่เหล่าบริวารเหนื่อยเดินหอบถี่ เปล่งเสียงออกมา "หุย ฮุ่ย" เทือกเขายาวลูกนั้นมีชื่อ "ดอยแม่อีฮุย" หรือบางขณะช้างเกิดดื้อไม่ยอมน้อมหัว ต้องใช้ขอเหล็กกระทุ้ง ภาษาเหนือออกเสียงว่า "ต๊ง" ที่บริเวณหัวช้าง ทำให้ชื่อว่า "ต๊งหัวจ๊าง" หรือ "ทุ่งหัวช้าง"
ไม่ทราบว่าใช้ระยะเวลาในการเดินทางกี่ปี กี่เดือน กี่วัน (ผิดกับตำนานจามเทวีที่ระบุชัดว่าลงแพมา 7 เดือนก็ถึงลำพูน)

ในที่สุดเจ้าหญิงจามรีก็หยุดอยู่ ณ ไชยภูมิที่เหมาะสม นั่นคือบริเวณวัดพระธาตุดวงเดียวแห่งเวียงลี้ เป็นจุดที่ช้างเลือกให้ก่อนขาดใจตายภายหลังจากที่ภาระของมันสิ้นสุดแล้ว

จากราชธิดาหลวงพระบาง กลายมาเป็นเจ้าแม่จามรี ปฐมกษัตริย์แห่งเวียงลี้ ในอดีตมีชื่อว่า "เวียงกุมตระ" (น่าจะเป็นชื่อเวียงดั้งเดิมของชาวลัวะที่มีมาก่อนแล้ว) จากหลักฐานทางโบราณคดีพบว่าเวียงลี้หรือเวียงกุมตระนี้มีร่องรอยคันน้ำคูดิน กำแพงเมืองศิลาแลง เศษซากโบราณสถาน โบราณวัตถุ ภาชนะเครื่องถ้วย ลวดลายปูนปั้นประดับเจดีย์กล่นเกลื่อน ที่มีอายุเก่าถึงช่วงต้นอาณาจักรล้านนาหรือปลายหริภุญไชยจริง

สำนึกของคนเมืองลี้ ซึ่งเรียกตัวขานเองว่า "ชาวลิ" ในปัจจุบันนั้น ไม่รู้สึกผูกพันหรือคิดว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของลำพูน ด้วยพื้นที่อำเภอเดียวมีขนาดใหญ่เกินครึ่งจังหวัด มากกว่าอีก 7 อำเภอที่เหลือรวมกัน ซ้ำยังเป็นดินแดนที่มีเสาหลักเมืองแยกออกมาเป็นเอกเทศ มีกษัตริย์ในท้องถิ่นเป็นของตนเองไม่เกี่ยวข้องกับเจ้าแม่จามเทวี กษัตริย์เวียงลี้องค์ที่นั่งเมืองสืบต่อจากเจ้าแม่จามรี ได้แก่ เจ้าอุ่นเมือง เจ้าจองสูง เจ้าข้อมือเหล็ก เจ้าปู่เหลือง และสุดท้ายเจ้านิ้วมืองาม

ยุคเจ้านิ้วมืองามได้มีกองทัพสุโขทัยเข้ามาบุกรุกโจมตีเผาเวียงลี้จนล่มสลาย ผู้คนแตกสานซ่านเซ็น จนเวียงกุมตระร้างไปนานหลายศตวรรษ อย่างไรก็ดี ชาวลิยังคงภาคภูมิใจกับราชวงศ์จามรี แม้เคยมีกษัตริย์ปกครองอยู่เพียงระยะเวลาสั้นเพียง 6 รัชกาลก็ตาม
เรื่องเล่าท้องถิ่น
สู่ประวัติศาสตร์อุษาคเนย์
หากอ่านตำนานเรื่องนี้อย่างผิวเผิน อาจรู้สึกว่าเป็นนิทานปรัมปราแนวยกยอฮีโร่แบบไร้เหตุผล ดีไม่ดีอาจได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างพล็อตเรื่องมาจากตำนานจามเทวีด้วยซ้ำ เพราะมีกลิ่นอายที่ละม้ายกันเหลือเกิน

นอกเหนือจากชื่อ "จาม" แล้ว ทั้งสองต่างก็อยู่ในฐานะธิดากษัตริย์จากต่างแดนที่ต้องพลัดถิ่น ระหกระเหินเดินทางไกลเหมือนๆ กัน เพียงแต่องค์หนึ่งมาตามคำเชิญของฤๅษีวาสุเทพที่สร้างเมืองรอไว้แล้ว จึงค่อยๆ เคลื่อนขบวนทางชลมารคจากใต้ขึ้นเหนืออย่างมีวัตถุประสงค์ชัดเจน
ส่วนอีกองค์นั้นหนีตายร้อนรนเสด็จทางสถลมารคจากเหนือลงสู่ใต้อย่างไร้จุดหมาย

น่าแปลกตรงที่ว่า เส้นทางเสด็จของทั้งคู่ที่ต่างทิ้งร่องรอยชื่อบ้านนามเมืองไว้มากมายนั้น กลับไม่มีจุดไหนทับที่กันเลย
เจ้าแม่จามเทวีมาตามลำน้ำปิงจากลพบุรี ชัยนาท นครสวรรค์ กำแพงเพชร ตาก ลี้ ฮอด จอมทอง ป่าซาง เข้าลำพูน
ส่วนเจ้าแม่จามรีเริ่มจากหลวงพระบาง (ขอตัดเชียงตุง-เชียงรุ่งอันรุงรังทิ้งไป) ก็เข้าสู่เชียงแสน ฝาง เชียงดาว ดอยหล่อ เวียงหนองล่อง แม่ทา ทุ่งหัวช้าง และเข้าสู่ลี้ตามลำน้ำลี้ ไม่ผ่านลี้ในส่วนของแม่น้ำปิง จึงสวนกันกับเส้นทางเสด็จของจามเทวีไปอย่างน่าอัศจรรย์
ข้อแตกต่างระหว่าง "นางพญาแม่เมือง" สององค์นี้ที่เห็นได้ชัดก็คือระยะเวลา ยุคของจามเทวีนั้นตรงกับ พ.ศ.1200 หรือสมัยทวารวดีอันมีศูนย์อำนาจอยู่ที่ละโว้
ในขณะที่จามรีนั้น มีอายุอยู่ในสมัยหริภุญไชยตอนปลายต่อกับล้านนาตอนต้น ห่างไกลจากยุคจามเทวีถึง 600 ปี ถือเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อในห้วงเวลาที่รัฐโบราณภายใต้อิทธิพลมอญ-ขอมกำลังล่มสลายลง พร้อมๆ กับการเปิดฉากภาพความเคลื่อนไหวของชาวไทเผ่าต่างๆ ที่หลั่งไหลถ่ายเทหลบหนีการรุกรานของมองโกลเข้ามาตั้งถิ่นฐานในดินแดนสยามตอนบน ตกอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 18-19
เป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับเหตุการณ์สำคัญช่วงที่พระญามังรายกำลังตีอาณาจักรหริภุญไชยแตกในปี พ.ศ.1824 เพื่อสถาปนารัฐไทภาคเหนือโดยย้ายศูนย์การปกครองจากลำพูนไปอยู่เชียงใหม่ เปิดโอกาสให้ลำพูนตอนใต้แถบลี้นั้นเป็นเขตปลอดจากอำนาจของทุกฝ่าย

จึงไม่แปลกหากเจ้าแม่จามรีจะแอบซุ่มสร้างรัฐเล็กๆ ขึ้นโดยไม่มีใครตามมารุกราน
เชื่อว่ายังมีวีรสตรี-วีรบุรุษในตำนานท้องถิ่นกระจายตัวอยู่ทั่วแผ่นดินสยาม คนเหล่านี้ไม่เคยได้รับความเชื่อถือว่ามีอยู่จริง ถูกเยาะเย้ยถากถางว่าเป็นเรื่องเสกสรรปั้นแต่งไร้สาระ

แต่ทว่าวันนี้หมดยุคที่นักวิชาการกระแสหลักจะมาตั้งคำถามเค้นหาข้อเท็จจริงจาก "คนสามัญในรัฐชายขอบ" อย่างเอาเป็นเอาตายเหมือนสมัยก่อนแล้ว

ในทางกลับกัน ควรหันมาสนใจอย่างกระหายใคร่รู้ ในฐานะที่คนเล็กๆ เหล่านั้นล้วนเป็นจิ๊กซอว์คนละตัวสองตัวที่ช่วยต่อยอด เชื่อมโยง ให้เราเห็นภาพความเคลื่อนไหวในรอยโหว่ของ "รัฐเล็กเมืองน้อย" ที่เคยแหว่งวิ่นขาดหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์รัฐชาติที่ผูกขาดความเป็นเจ้าของไว้โดยคนเพียงกลุ่มเดียวมาอย่างยืดเยื้อและซ้ำซาก

รายการบล็อกของฉัน

 hellomanman  happy-topay  invite-buying
 men-women-apparel diarylovemanman news-the-world
 homemanman alovemanman
 menmen-love
 ghost-in-manman  U.F.O.manman fishmanman
foodmanman  flowermanman herbs-in-manman
devilmanman herbs-in-manman manman clip