Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ปริศนาสุสานอัตติลา


ปริศนาสุสานอัตติลา
ชื่อของอัตติลา หรือที่รู้จักกันในนาม "อัตติลาชาวฮั่น" เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวยุโรปในสมัย 1,500-1,600 ปีก่อน ว่ากันว่าในสมัยนั้นแค่เอ่ยนามอัตติลา
ชาวยุโรปจะพากันเข่าอ่อนตาเหลือกลานไปตาม ๆ กัน เพราะงานหลักของเขาคือคุมทัพออกตะลุยยดเมืองต่าง ๆ ในยุโรปที่ไม่ยอมอ่อนข้อจ่ายค่าคุ้มครองให้ แล้วเวลาที่อัตติลาท้าตะลุยนั้นก็ดุเหลือหลาย ใครขวางหน้าเป็นตายเรียบไม่เว้นลูกเล็กเด็กแดง

อันว่าชาวฮั่นนั้นโดยเนื้อแท้เป็นแต่ชาวเผ่าเร่ร่อนป่านเถื่อนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ทางตะวันออกของยุโรปประมาณใกล้ ๆ กับมองโกล หรือรัสเซียตอนใต้ในปัจจุบัน แต่เมื่อมีผู้นำหรือ "ข่าน" ที่เข้มแข็งอย่างอัตติลา ชาวฮั่นทำท่าจะเคลื่อนย้ายมาทางตะวันตกเรื่อย ๆ ในสมัยรุ่งเรืองสุดยอดนั้น อัตติลามีอำนาจเหนือทุกอาณาจักรในยุโรปตั้งแต่ทะเลแคสเปี้ยนไปจนถึงแม่น้ำไรน์
(ทะเลแคสเปี้ยนอยู่แถบเปอร์เซีย เลยเอเชียไมเนอร์ออกมาทางตะวันออก ในขณะที่แม่น้ำไรน์อยู่แถวเยอรมัน)

ด้วยชื่อเสียงอันระบือลือลั่นในด้านความเหี้ยมโหดเข้มแข็งในการรบ และความเป็นชาวพื้นเมืองป่าเถื่อนไม่มีศาสนาของชาวฮั่นนี่เองที่ทำให้อาณาจักรต่าง ๆ
ในยุโรปไม่ว่าจะเป็นไบแซนดิอุม
(หรือที่เรียกว่าไบแซนไทน์) หรือจักรวรรดิโรมันอันเกรียงไกร ซึ่งถือว่าเป็นชาวศิวิไลซ์มีอารยธรรมรุ่งเรืองเป็นนักหนากลัวกันจนหัวหด อัตติลาจึงส่งสาส์นไปขอส่วยจากประดาหัวเมืองน้อยใหญ่ในยุโรป ใครไม่ให้ก็จะยกทัพไปตี ยุโรปสมัยนั้นถึงจะรวมตัวกันเป็นอาณาจักรใหญ่ได้ แต่สภาวะทางการเมืองก็ไม่ใคร่จะมั่นคงอะไรนัก 

ยิ่งพวกหัวเมืองไกล ๆ ออกมาจากโรมด้วยแล้วยิ่งมีการแข็งข้อบ้าง ชิงอำนาจบ้างอยู่เป็นประจำ แล้วพวกชาวพื้นเมืองป่าเถื่อนที่ชอบรุกรานชาวบ้านก็มีแต่พวกฮั่นเสียเมื่อไร หากยังมีพวกกอธ และพวกอวาร์อีก สุดท้ายหัวเมืองใหญ่น้อยทั้งหลายก็ต้องจ่ายเงินให้อัตติลาไป แลกกับการได้อยู่อย่างปลอดภัยจากพวกฮั่น และหวังว่าจะได้รับความคุ้มคาองให้พ้นจากชาวเผ่าป่าเถื่อนอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน จึงปรากฏว่าพออัตติลากับลูกน้องทั้งเผ่าได้ใช้เงินส่วนนี้อย่างเปรมอุราเป็นเวลาเกือบยี่สิบปี นักประวัติศาสตร์ถึงกับระบุว่าการที่จักรวรรดิโรมันถึงแก่การล่มสลายนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่หัวเมืองใหญ่น้อยมาพะวงส่งส่วยให้กับอัตติลา

แต่ความพอใจในอำนาจของอัตติลาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น ในปี ค.ศ. 451 เขายกทัพใหญ่ตะลุยเมืองต่าง ๆ ริมแม่น้ำดานูบราบเป็นหน้ากลองไปจนย่างเข้าดินแดนของพวกกอล ที่เป็นประเทศฝรั่งเศสในปัจจุบัน ชาวคริสต์ที่รอดพ้นจากการบีฑาของพวกฮั่น และที่กำลังถูกบุกมาถึงตัวเกิดฮึดสู้พากันถืออาวุธ เมื่ออัตติลายกทัพมาถึงที่ราบคาตาลอเนี่ยน พบกับกองทหารชาวคริสต์นานาชาติตั้งป้อมรออยู่ก่อนแล้ว ทั้งสองฝ่ายบุกเข้ารบรุกกันอย่างดุเดือด ล้มตายเป็นใบไม้ร่วงทั้งคู่ แต่ลงท้ายอัตติลาตัดสินใจให้สัญญาณถอย นับว่ากองทัพคริสเตียนป้องกันดินแดนไว้ได้สำเร็จ

ปีต่อมาอัตติลารุกลงใต้มาทางอิตาลี บุก่ลุยลงเรียบเป็นรายทางมาตึ้งแต่อาควิเลีย ปาตัว เวโรนา มิลาน เป้าหมายอยู่ที่กรุงโรมซึ่งเป็นศูนย์กลางของศาสนาคริสต์เลยทีเดียว กล่าวกันว่าเมืองเวนิสนั้นเป็นเมืองขึ้นมาได้ก็เพราะพวกที่หนีตายจากการรุกรานของอัตติลานี่ล่ะที่ถอยมาตั้งหลัก อย่างไรก็ตาม อัตติล่าชะงักการบุกโรมไว้ในตอนสุดท้าย และตัดสินใจยอมพบกับพระสันตปาปาลีโอที่ 1 ที่ริมฝั่งแม่น้ำโป เป็นการพบกันของสองผู้ยิ่งใหญ่ทางโลกและทางธรรม ฝ่ายอัตติลามาด้วยทหารคุ้มกันและอาวุธเต็มอัตราศึก พระสันตปาปามามือเปล่ากับพระสงฆ์อีกไม่กี่รูปที่ร้องเพลงสวดสรรเสริญพระเจ้าไม่ขาดปาก การเจรจาจะเป็นฉันใดไม่ได้แจ้ง แต่อัตติลาสั่งถอนทัพกลับในคืนนั้น และบางตำนานถึงกับบันทึกคำพูดของอัตติลาไว้ว่า 
"เราจะทิ้งดินแดนแห่งพระมารดาของ
พระเจ้าไปโดยสันติ"

การถอนทัพอย่างกะทันหันของอัตติลาทำให้ผู้คนสันนิษฐานกันไปต่าง ๆ บ้างก็ว่าพระสันตปาปาตกลงจ่าย "ค่าป้องกันเมือง" ด้วยเงินทองของขวัญอันล้ำค่ามากมายจนอัตติลาพอใจ บ้างก็ว่าพระสันตปาปาใช้วาทศิลป์กล่อมให้อัตติลาเชื่อว่า การโจมตีเมืองแห่งพระมารดาของพระเจ้าจะเป็นบาปใหญ่หลวงต่อจิตวิญญาณของอัตติลา และทำให้เกิดผลร้ายตามมามากมาย หรืออาจเป็นเพราะพระสันตปาปาบอกอัตติลาไปดื้อ ๆ เลยว่ากองทัพนานาชาติของชาวคริสต์กำลังรวมตัวกันอีกครั้ง และถ้าอัตติลายังดื้อแพ่งจะตีโรมก็อาจต้องมีการสู้รบเสียเลือดเนื้อกันอย่างมโหฬารเหมือนปีก่อน แต่จะเป็นเพราะอะไรก็ตาม โรมก็รอดจากการถูกอัตติลา และกองทัพฮั่นทำลายไปได้อย่างหวุดหวิด

นั่นคือครั้งสุดท้ายที่อัตติลาสำแดงเดชอย่างจริงจัง เมื่อหน้าหนาวมาเยือนอัตติลาก็หาเรื่องคลายหนาวด้วยการหาศรีภริยาคนใหม่ ภริยาคนสุดท้ายนี้เป็นสาวสวยเชื้อสายเยอรมันชื่อ "อิดลิโก้" ในงานฉลองแต่งงานอัตติลาดื่มเหล้าจนเมามาย เขามีอาการตกเลือดกำเดาอย่างหนัก และสำลักจนเสียชีวิตไปอย่างกระทันหันในคืนนั้นเอง
(อีกทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า เขาป่วยด้วยอาการเลือดออกภายในหลังจากที่ดื่มเหล้าไปเป็นอันมาก ด้วยอาการที่เรียกว่า หลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร (esophageal varices) เมื่อหลอดเลือดขยายตัวในบริเวณตอนล่างของหลอดอาหารแตกที่ทำให้เสียชีวิตจากการเสียเลือด,
(อ้างอิงhttps://th.wikipedia.org/wiki/อัตติลา))

ถึงเขาจะเหี้ยมโหดในสายตาของพวกยุโรป แต่เขาก็เป็นที่รักของลูกน้องร่วมเผ่าอย่างที่สุด มีบันทึกไว้ว่าลูกน้องของอัตติลาทำความเคารพผู้ตายด้วยการตัดผม และกรีดหน้าตัวเองจนเป็นแผลลึก ทั้งนี้ ก็เพราะเชื่อว่านักรบไม่ควรแสดงความเศร้าด้วยน้ำตาอันเป็นวิถีของอิสตรี แต่ต้องแสดงความเศร้าโศกด้วยเลือดของชายชาตรี ร่างไร้ชีวิตของอัตติลาถูกวางไว้ในเต๊นท์ผ้าไหมกลางที่ราบกว้าง มีนักรบฮั่นที่เก่งกล้าสามารถที่สุดขี่ม้าล้อมรอบเต๊นท์เป็นวงกลม ร้องเพลงในพิธีศพไปพร้อมกัน หลังจากนั้นจึงเริ่มพิธี "สตราวา" ซึ่งเป็นพิธีเฉลิมฉลองในงานศพ ร่างของอัตติลาถูกฝังอย่างลับ ๆ ในตอนกลางคืน 

บันทึกของผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า โลงศพของอัตติลานั้นตกแต่งจนทั่วด้วยทองหุ้มด้วยเงิน และสุดท้ายด้วยแผ่นเหล็ก ซึ่งนับว่าเป็นการยกย่องในระดับราชาทีเดียว นอกจากนี้ภายในโลงศพยังเต็มไปด้วยอาวุธที่ยึดมาได้จากข้าศึก ตลอดจนเงินทองของมีค่าและเพชรนิลจินดาจำนวนมาก การนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดความโลภอันอาจนำมาซึ่งการรบกวนผู้ตายด้วยการขุดโลงเอาสมบัติ ผู้เกี่ยวข้องในการบรรจุศพและฝังศพทุกคนจะถูกฆ่าหลังจากทำพิธีฝังศพเสร็จแล้ว ทั้งนี้เพื่อการันตีว่าอัตติลาจะมีความสุขบนกองเงินกองทองต่อไปแม้ภายหลังการตาย โดยปราศจากคนมากวนใจ

เวลาผ่านไป ชื่อของอัตติลากลายเป็นตำนานอันเกรียงไกร และหลุมฝังศพของเขาก็กลายเป็นที่หมายปองของบุคคลหลายฝ่าย พวกที่ศรัทธาในตัวอัตติลาก็ต้องการรู้ตำแหน่งที่ฝังศพที่แน่นอน จะได้มาแสดงความเคารพได้ถูกที่ พวกที่ศรัทธาในโบราณคดีก็เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังว่าการค้นพบหลุมฝังศพจะเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวฮั่น ส่วนพวกที่ศรัทธาในทรัพย์ศฤงคารก็เปรี้ยวปากอยากเจอ เพราะอ่านในบันทึกแล้วดูเหมือนว่าโลงศพนั้นจะเต็มไปด้วยของมีค่าไม่แพ้หีบมหาสมบัติ ใครเจอคงสบายไปทั้งชาติ

ปัญหาก็คือไม่มีใครรู้แน่สักคนว่าอัตติลาถูกฝังไว้ที่ใด คนที่รู้ก็ถูกฆ่าปิดปากไปหมดแล้ว บันทึกอะไรที่ไหนก็ไม่มี นอกจากที่ได้มีคนเขียนไว้ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งก็ไม่ได้ระบุสถานที่เสียด้วย บอกแต่เพียงว่าการเดินทางไปยังหลุมฝังศพนั้นต้องข้ามแม่น้ำสามสายคือ เครก้อน, ไทกัส และทิเฟซัส บนหลุมจะมี "สิ่งก่อสร้าง" ทำด้วยไม้เป็นแบบง่าย ๆ ซึ่งตกมาป่านนี้คงชำรุดผุพังไปด้วยกาลเวลาจนแทบไม่เหลืออะไรแล้ว นักประวัติศาสตรืทราบข้อมูลที่แน่ชัดอันหนึ่งว่า สถานที่ที่จัดพิธีเฉลิมฉลองงานศพก็คือกองบัญชาการใหญ่ของทัพฮั่น แต่ก็อีกนั่นแหละเนื่องจากนักรบเร่ร่อนพวกนี้ไม่เคยคิดจะลงเสาปลูกอาคารถาวรอยา่งใคร ๆ 

ร่องรอยกองบังคับบัญชาไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหนก็ถูกกาลเวลาลบเลือนไปจนหมด ได้แต่คาดคะเนเอาจากบันทึกของผู้เห็นเหตุการณ์นั้นว่าคงจะอยู่ที่ไหนสักแห่งทางเหนือของเมืองคือรีส, ชายฝั่งแม่น้ำทิสซา, ทางตอนตะวันออกเฉียงเหนือของฮังการีซึ่งเป็นทุ่งหญ้าเขตหนาว ที่ในปัจจุบันเรียกว่า เขตโซลนอค ทางตะวันออกของบูดาเปสต์ แต่เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่
สรุปแล้วหลุมฝังศพของอัตติลาชาวฮั่น
ผู้เกรียงไกรนั้นหาได้ยากเย็นยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรเสียอีก แต่ถึงอย่างไรก็ยังมีผู้คนที่สนใจตามหาหลุมฝังศพของเขาอย่างไม่ลดละ เพราะพบเมื่อไรนั่นก็หมายถึงชื่อเสียงและเงินทอง..ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจจะลองหาดูบ้างก็ได้ตามอัธยาศัย...(จบ)...✎

รายการบล็อกของฉัน

 hellomanman  happy-topay  invite-buying
 men-women-apparel diarylovemanman news-the-world
 homemanman alovemanman
 menmen-love
 ghost-in-manman  U.F.O.manman fishmanman
foodmanman  flowermanman herbs-in-manman
devilmanman herbs-in-manman manman clip