Custom Search

บทความที่ได้รับความนิยม

Translate

วันศุกร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ขุนรองปลัดชู


ขุนรองปลัดชู เป็นผู้นำในคณะกรมการเมืองวิเศษไชยชาญ (ปัจจุบันคืออำเภอวิเศษชัยชาญ จังหวัดอ่างทอง) มีชีวิตในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย รัชสมัยของสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์(พระเจ้าเอกทัศน์) ซึ่งได้รวบรวมไพร่พลเข้าเป็นกองอาสาสมัคร 400 คน สังกัดกองอาทมาต เพื่อเข้าร่วมทัพของกรุงศรีอยุธยา(Ayutthaya.)ต่อต้านการรุกรานของกองทัพพม่าในสงครามพระเจ้าอลองพญา
ตามข้อมูลในท้องถิ่นอำเภอวิเศษชัยชาญกล่าวว่า ขุนรองปลัดชูมีชื่อตัวว่า "ชู" เป็นครูดาบอาทมาตผู้มีฝีมือในเขตเมืองวิเศษไชยชาญ มีลูกศิษย์จำนวนมากและเป็นที่เคารพนับถือโดยทั่วไปในแถบนั้น นายชูได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรมการเมืองวิเศษไชยชาญตำแหน่ง "ปลัดเมือง" ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อคนผู้นี้โดยทั่วไปว่า "ขุนรองปลัดชู"
เมื่อสามารถระดมไพร่พลเข้าเป็นอาสาสมัครกองอาทมาตได้ 400 คนแล้ว ขุนรองปลัดชูได้นำกำลังของตนเข้าสมทบกับกองทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ (พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ออกชื่อเป็น พระยาธรรมา) ซึ่งได้รับมอบหมายให้ไปตั้งทัพสกัดกองทัพพม่าภายใต้การนำของเจ้ามังระราชบุตรและมังฆ้องนรธา อันยกมาทางเมืองมะริดและตะนาวศรี หลังจากตีทัพของพระยายมราชแห่งอยุธยาที่แก่งตุ่มแขวงเมืองตะนาวศรีแตกแล้ว ทัพดังกล่าวจึงเดินทางข้ามด่านสิงขรมุ่งสู่เมืองกุยบุรี เพื่อใช้เส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลเข้าสู่กรุงศรีอยุธยา พระยารัตนาธิเบศร์ซึ่งรั้งทัพอยู่ที่กุยบุรีจึงส่งกองอาทมาตของขุนรองปลัดชูให้มาสกัดทัพอยู่ที่อ่าวหว้าขาว (ปัจจุบันอยู่ในเขตตำบลอ่าวน้อย อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)
กองอาทมาตของขุนรองปลัดชูได้ปะทะกับกองทัพพม่าซึ่งมีกำลังราว 8,000 คน ตั้งแต่เช้าจรดเที่ยงก็ยังไม่แพ้ชนะ แต่ด้วยจำนวนที่น้อยกว่าและไม่ได้รับกำลังเสริมจากทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ (พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียมและพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวว่า ได้รับไพร่พลจากทัพหลักเป็นกองหนุนสมทบอีก 500 คน) กองอาทมาตจึงตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบเพราะความอ่อนล้า และถูกฝ่ายตรงข้ามไล่ต้อนลงทะเลฆ่าฟันจนเสียชีวิตทั้งหมดในวันนั้น ด้านทัพของพระยารัตนาธิเบศร์เมื่อทราบว่ากองอาทมาตของขุนรองปลัดชูแตกพ่าย จึงได้เร่งเลิกทัพหนีกลับมายังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับทัพของพระยายมราช และกราบทูลรายงานการศึกว่า "ศึกพม่าเหลือกำลังจึงพ่าย" ส่วนกองทัพพม่าเมื่อผ่านเมืองกุยบุรีได้แล้วก็ยกทัพมายังกรุงศรีอยุธยาโดยสะดวก เนื่องจากแนวรับต่างๆ ในลำดับถัดมาของฝ่ายอยุธยาถูกตีแตกในเวลาอันสั้น
บันทึกในพงศาวดาร
แผนที่เส้นทางการเดินทัพของกองทัพพม่าในสงครามพระเจ้าอลองพญาเรื่องราวของขุนรองปลัดชูมีกล่าวถึงในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเพียงสั้นๆ ดังนี้ (ในที่นี้เน้นด้วยการขีดเส้นใต้)
คลิปตอนกรุงศรีอยุธยาโดนพม่าตีแตก
...ฝ่ายพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสทราบนั้นแล้ว จึงดำรัสให้พระยายมราชเป็นทัพหน้า พลทหาร ๓๐๐๐ ทัพหนึ่ง ให้พระยาธารมาถืออาญาเป็นแม่ทัพ พลทหาร ๒๐๐๐ ยกไปตั้งเมืองกุยบุรี พะม่ายกขึ้นมาตีทัพพระยายมราชณแกงตุมแตก พระยาธารมาจึงเกณฑ์ไพร่ ๕๐๐ เข้าบรรจบกองปลัดชู แล้วให้ยกไปตั้งตำบลอ่าวขาวริมทะเล ฝ่ายทัพหน้าพะม่ายกขึ้นมาตี กองปลัดชูก็แตกพ่าย พระเจ้าอังวะจึงดำเนินทัพเข้ามาณเมืองกุย เมืองปราณ เมืองเพ็ชรบุรี เมืองราชบุรี...

— พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)
...ม้าใช้รีบออกไปสืบราชการดู มากราบทูลว่า พม่ายกมาทางมะริด ๑ ทางท่ากระดาน ๑ ทางเชียงใหม่ ๑ ที่จริงนั้นพม่ายกมาแต่ข้าง มะริดทางเดียว พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงทราบแน่ ก็ตกพระทัย ด้วย มิได้มีวิจารณ์พระเชาวญาณ ก็พาลเขลาทรงเชื่อเอาทั้ง ๓ ทาง จึ่ง ดำรัสสั่งให้พระยาพิชัยสงคราม นามชื่อปลัดชู พระจุฬา หลวงศรียศ หลวงราชพิมล ขุนศรีวรคัณฑ์ ๕ คน คุมพล ๕,๐๐๐ ออกไปต้านทานข้างมะริดก่อน แล้วเกณฑ์พระยาราชสงคราม พระยาไชยา พระยามหาเสนา พระยาเพชรพิชัย พระยาสมบัติธิบาล พระยาตะนาว พระยาพัทลุง หลวงกระ ๘ คนนี้คุมพล คนละ ๑,๐๐๐ แล้วให้พระยาอภัยราชาถืออาชญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ ยกไปรับทางเชียงใหม่ แล้วเกณฑ์ทิพเสนา ราชามาตย์ ทิพรักษา ราชาบาล วิสูตโยธามาตย์ ราชโยธาเทพ หลวงศักดิ์ หลวงสิทธิ หลวงฤทธิ หลวงเดช ๑๐ คน คุมพลคนละ ๑,๐๐๐ ให้พระยาอภัยมนตรีเป็นแม่ทัพใหญ่ ยกไปจุกไว้ทางท่ากระดาน ครั้นทรงทราบว่าทางมะริดพม่ายกมามาก ก็ให้พระยายมราชเป็นแม่ทัพหน้า คุมพล ๒๐๐๐๐ ให้พระยาธรมาถืออาชญาสิทธิ์เป็นแม่ทัพ พลทหาร ๓๐๐๐ ยกเพิ่มเติมไปตั้ง ณ เมืองกุยบุรี พม่ายกขึ้นมาตีทัพพระยายมราช ณ แก่งตุ่มแตก แล้วยกแยกไปตีกองปลัดชู ซึ่งตั้งอยู่ตำบลอ่าวขาวริมทะเล จึ่งแบ่งไพร่ ๕๐๐ ไปช่วยกองปลัดชู รบกันอยู่ประมาณกึ่งวัน กองปลัดชูก็แตกพ่ายมา พระเจ้าอังวะก็ดำเนินทัพเข้ามา ณ แขวงเมืองกุยบุรี เมืองปรานบุรี...
— พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม
เรียบเรียงข้อมูลเพิ่มเติมโดย manman

รายการบล็อกของฉัน

 hellomanman  happy-topay  invite-buying
 men-women-apparel diarylovemanman news-the-world
 homemanman alovemanman
 menmen-love
 ghost-in-manman  U.F.O.manman fishmanman
foodmanman  flowermanman herbs-in-manman
devilmanman herbs-in-manman manman clip